xs
xsm
sm
md
lg

AIS 5G จาก Speed Toggle สู่ Living Network สร้างเครือข่ายมีชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากประกาศยุทธศาสตร์ ‘พาย 3 ชิ้น’ ที่ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ การเชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม และการดำเนินงานอย่างยั่งยืนพร้อมกับการพัฒนาความสามารถของบุคลากร ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความคืบหน้าของ AIS ในการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะ (Cognitive Tech-Co) ก็เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการผลักดันเศรษฐกิจแบ่งปัน (Ecosystem Economy) ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย (Sustainable Nation) 

พร้อมกับแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องไปกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสาร ไล่ตั้งแต่ยุคของ 1G 2G 3G ต่อเนื่องมาถึง 4G และ 5G ที่เริ่มกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต

เพียงแต่ว่าด้วยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปัจจุบันที่จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนถึง 130% หรือจากจำนวนประชากรไทยกว่า 70 ล้านคน มีผู้ใช้งานโทรศัพท์กว่า 100 ล้านเลขหมาย แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนผู้ใช้เฉพาะบุคคลจะอยู่ที่ราว 60 ล้านคน คิดเป็นมากกว่า 80%


ขณะที่ในส่วนของตลาดบรอดแบนด์จากครัวเรือนกว่า 22 ล้านเรือน มีการเข้าถึงบรอดแบนด์แล้วกว่า 11ล้านครัวเรือนส่งผลให้การเติบโตในแง่ของบริการทางการสื่อสารทำได้ยากขึ้น เพราะคนไทยเข้าถึงเกือบหมดแล้ว ดังนั้นทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต พร้อมกับพาประเทศไทยเติบโตไปพร้อมกัน

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)หรือ AIS กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ใช้มือถือ และดิจิทัลเซอร์วิสมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ช่วยสร้างโอกาสในการค้าขายออนไลน์ผ่านอีคอมเมิร์ซกว่า 2 หมื่นล้านบาท และมีครีเอเตอร์กว่า 2 ล้านคน

“การมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ดีนับเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะประเทศเล็กๆ อย่างเราแทบไม่มีโอกาสแข่งขันกับประเทศใหญ่ๆ ได้เลย ถ้าไม่มีดิจิทัล เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายเล็กๆ ย่อยๆ ในอดีต จะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เลย ถ้าไม่มีเทคโนโลยี หรือดิจิทัลเข้ามาช่วย”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาทั้งการแพร่ระบาด การแบ่งขั้วทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จนมาถึงสงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครนต่อเนื่องอิสราเอลและฮามาส กลายเป็นปัจจัยที่คนไทยต้องหันมามองว่าจะกระทบกับประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มวางรากฐานในการเติบโตขณะนี้


โดยเฉพาะความท้าทายของเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดขึ้นจากการกีดกันทางการค้า ปัญหาทางด้านซัปพลายเชน เรื่องของพลังงาน เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่จะคงอยู่ในอัตราสูงต่อไป ทำให้การที่จะพัฒนาประเทศต่อไปมีความท้าทาย AIS จึงพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการวิวัฒน์ครั้งสำคัญของโลกดิจิทัลและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ภายใต้ ‘The Next Evolution พลิกโฉมประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าในทุกมิติ’

เนื่องจากทำให้ประเทศไทยต้องมีแผนที่จะเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาที่เราเคยคิดว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เราไม่สามารถพัฒนาให้สร้างมูลค่าต่อจีดีพีให้เติบโตขึ้นได้ แต่กลายเป็นว่าในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่รับจ้างจากต่างชาติ หรือการให้บริการในแง่ของภาคการท่องเที่ยวกลับกลายเป็นส่วนสำคัญที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ

ที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์ลงทุนเพื่อชาติอย่างมากในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสาร โดยที่ภาครัฐไม่ต้องลงทุนเลย แตกต่างจากการให้บริการทางสาธารณูปโภคอย่างธุรกิจของน้ำประปา และไฟฟ้า ดังนั้น AIS ในฐานะตัวแทนขององค์กรใหญ่ในประเทศ สิ่งที่ห่วงมากๆ คือโลกกำลังเผชิญกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

“ถ้ามองย้อนไปที่ผ่านมา AIS ลงทุนในประเทศไทยไปแล้วมากกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังมีการลงทุนต่อเนื่องในแต่ละปีประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท และมีโอกาสที่บางปีขยับขึ้นไปอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท เมื่อจำเป็นต้องลงทุนเพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมการใช้งานของคนไทย และภาคธุรกิจทั่วประเทศ”

ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนเพื่อให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่จากการลงทุนของ AIS ยังคำนึงถึงความยั่งยืนไปพร้อมกัน ทำให้เครือข่ายที่ขยายออกไปมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งๆ ที่ของเดิมยังใช้ได้ เพื่อให้ใช้ไฟน้อยลง ทั้งสถานีฐานกว่า 46,590 แห่ง การลากสายไฟเบอร์ไปทั่วประเทศกว่า 254,000 กิโลเมตร เพื่อให้บริการลูกค้ารวมแล้วมากกว่า 45 ล้านราย


“ในแต่ละปี AIS สามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้กว่า 131,725 ตัน จากการประหยัดพลังงาน มีการใช้พลังงานทดแทน อย่างการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งาน ช่วยลดคาร์บอนไปได้กว่า 16,159 ตัน และการนำเสนอดิจิทัลเซอร์วิส ช่วยลดคาร์บอน 14,994 ตัน ทั้งหมดแล้วเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 17 ล้านต้น”

***พันธมิตรคลื่น 700 MHz - ควบรวม 3BB

ส่วนสำคัญของวิวัฒนาการของ Intelligence Infrastructure จะครอบคลุมทั้งเครือข่าย 5G จากทั้งคลื่นความถี่ที่ AIS ถือครองมากที่สุด และความร่วมมือล่าสุดกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ในการนำคลื่น 700 MHz มาให้บริการ รวมถึงโครงข่ายไฟเบอร์ที่ร่วมกับ 3BB ยกระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกว่า 13 ล้านครัวเรือน

“ความร่วมมือกับ NT ที่เกิดขึ้นจะช่วยลดการลงทุนของ NT จาก 1 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันเมื่อนำคลื่น 700 MHz มารวมกับของ AIS จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานและความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นถึง30%ในขณะเดียวกัน NT ก็เข้ามาเช่าใช้เครือข่ายของ AIS ในการโรมมิ่งเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าด้วย”

อย่างไรก็ตาม AIS มองว่าการควบคุมในธุรกิจเน็ตบ้านนั้น หลังจากควบรวมแล้วการให้บริการยังไม่ได้เป็น Duopoly เหมือนในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เพราะปัจจุบันธุรกิจบรอดแบนด์มีผู้ให้บริการรายใหญ่ 4-5 ราย ทำให้หลังจากรวม นอกจาก AIS True Online และ NT ยังมีรายย่อยอื่นๆ อีกมาก และที่สำคัญคือการเข้าสู่ตลาดฟิกซ์บรอดแบนด์ทำได้ง่ายกว่า เพราะสามารถเข้าไปขอใบอนุญาตในการให้บริการได้ทันที ไม่ต้องมีการลงทุนในส่วนของใบอนุญาตคลื่นความถี่

ทำให้เชื่อว่าหลังจากรวมกับ 3BB ธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ของ AIS จะมีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถทำตลาดให้แก่ลูกค้าเพิ่มเติม จากที่ปัจจุบันลูกค้า 3BB ราว 50%อาจจะใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือของ AIS อีกครึ่งอาจจะใช้เครือข่ายอื่น ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเปลี่ยนให้มาใช้งาน และเสริมสิทธิพิเศษให้ลูกค้า AIS ที่ใช้งาน 3BB เข้าไป

ทั้งนี้ ในเรื่องของราคาค่าบริการโทรคมนาคมของประเทศไทย ผู้บริหาร AIS มองว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการทุกรายเริ่มกลับมาสู่ราคาที่สมเหตุสมผลที่สำคัญคือมีกสทช.ควบคุมอยู่แล้วและราคาในปัจจุบันต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

“ที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์มีการลงทุนเกิน GDP แต่เติบโตได้ตาม GDP เมื่อประกอบกับกับค่าไฟ ค่าจ้างบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องหาทางเพิ่มรายได้ ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ทุกอย่างปรับไปตามภาวะการณ์ของตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจลงทุนไปทั้งเรื่องของการขยายโครงข่าย ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ซึ่งปัจจุบันกำลังกลับสู่ภาวะที่ควรจะเป็น”

***Living Network เครือข่ายที่มีชีวิต


อีกหนึ่งความน่าสนใจในการพัฒนา และเพิ่มความอัจฉริยะให้เครือข่ายและบริการ ซึ่งที่ผ่านมา AIS Fibre นับว่าเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมอย่างเรื่องของ Speed Toggle ที่เปิดให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้าน สามารถเลือกปรับความเร็วดาวน์โหลด อัปโหลด หรือซื้อความเร็วอินเทอร์เน็ตเพิ่มตามความต้องการของผู้ใช้ จนถึงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนเมื่อการเชื่อมต่อมีปัญหา

ตอนนี้ AIS ได้พัฒนาต่อยอดมาสู่การให้บริการของโทรศัพท์มือถือ ด้วยการสร้างเครือข่ายที่มีชีวิต (Living Network) ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถดูสถานะเครือข่ายในบริเวณที่ใช้งานอย่างความหนาแน่นของการใช้งานผ่าน myAIS 2.0 ที่กำลังจะเปิดให้ใช้งานกันในเดือนธันวาคมนี้ และยังมีความสามารถเด่นอย่างการปรับโหมดในการใช้งานเครือข่าย AIS 5G

ด้วยการนำความสามารถของ 5G ที่สามารถทำ Network Slicing ทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถแบ่งระดับการใช้งานของผู้ใช้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการใช้งานทั่วไปอย่างการเล่นโซเชียลมีเดีย หรือรับชมสตรีมมิ่ง ออกมาเป็น 5G Boost Mode ในการเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลด Game Mode ลดความหน่วง เพิ่มความเสถียรทำให้สามารถเล่นเกมได้อย่างลื่นไหล หรือ Live Mode ที่จะเปิดช่องอัปโหลดให้สูงขึ้นทำให้สามารถสตรีมคอนเทนต์ความละเอียดสูงได้

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS ให้ข้อมูลเสริมว่า ในการใช้งาน Living Network เพิ่มปรับโหมดการใช้งานสำหรับลูกค้า AIS 5G จะมีการเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะของการสมัครใช้แพ็กเกจเสริม โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมตอนที่เปิดให้บริการ


นอกจากนี้ AIS ยังได้เปิดเผยความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อย่างการนำเราเตอร์ WiFi 7 ของ TP Link เข้ามาทำตลาด รับกับมาตรฐานการเชื่อมต่อยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต การเปิดบริการ Communications Platform-as-a-Service (CPaaS) ช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ผ่านเลขหมายกลางเพียงเบอร์เดียวช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะในยุคของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เบอร์แปลก จนถึงการเพิ่มจำนวนคอลเซ็นเตอร์ในองค์กรได้

รวมถึงการเปิดให้บริการ Cloud PC สำหรับภาคธุรกิจด้วยอุปกรณ์ขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับจอมอนิเตอร์ เมาส์ และคีย์บอร์ด เพื่อเชื่อมต่อไปยังเวอร์ชวลเดสก์ท็อปที่อยู่บนคลาวด์ ซึ่งมีจุดเด่นหลักๆ ช่วยให้ทำงานที่ไหนก็ได้ ข้อมูล และการประมวลผลอยู่บนคลาวด์ ทำให้ข้อมูลถูกปกป้องเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือเป็นระบบของ Subscription ทำให้องค์กรสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเงินก้อนใหญ่ในการซื้อคอมพิวเตอร์ให้พนักงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น