xs
xsm
sm
md
lg

‘ประเสริฐ’ สั่ง NT ชะลอโครงการ 700 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สเต๊กติดคอ ถูกล้วงออกจากปาก ‘ประเสริฐ’ รมว.ดีอี สั่งเบรกโครงการ 700 MHz ห้ามเดินหน้าต่อ ชะลอการจัดซื้อทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง กาปฏิทิน 16 พ.ย.ประชุมร่วมบอร์ดที่เหลือ กจญ.และรอง กจญ.ถกอนาคต NT ยันหากคิดทำโครงการเพื่อหวังส่วนต่างต้องทบทวนใหม่แล้วอาจยกเลิกและหาทางคลื่นความถี่ไปเลยก็ได้

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ได้สั่งการ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ให้ชะลอการจัดซื้อใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการคลื่นความถี่ 700 MHz ออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่เห็นแผนธุรกิจที่ชัดเจนและยังไม่เห็นอนาคตของคลื่น 700 MHz

‘เรื่องความถี่ 700 MHz เป็นเรื่องที่ผมเป็นห่วง และได้ให้นโยบายไปว่าคุณไปประมูลมาในขณะที่คุณยังไม่เห็นอนาคตเลย แผนธุรกิจที่ชัดเจนยังไม่มี ต้องขอให้ชะลอโครงการที่จะจัดซื้อเกี่ยวกับคลื่น 700 MHz ไว้ก่อนประมาณ 700 กว่าล้านบาท อย่าเพิ่งทำอะไรต่อเพราะอาจเกิดปัญหาได้ เพราะรายจ่ายเกิดขึ้นแล้ว แต่รายได้ยังไม่เห็น ถึงแม้จะผ่านบอร์ดมาแล้ว ผมสามารถขอให้มีการทบทวนได้ ผมขอดูโครงการก่อนว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ถ้าเดินหน้าต่อต้องทำอย่างไร ถ้ามีประโยชน์นะ’

ทั้งนี้ รมว.ดีอีจะเดินทางเข้าไปประชุมร่วมกับบอร์ดที่เหลืออีก 7 คน กรรมการผู้จัดการใหญ่และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในวันพฤหัสที่ 16 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพราะต้องการรับรู้รายละเอียดแผนธุรกิจของโครงการ 700 MHz และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน NT ซึ่งมีประเด็นที่เป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งคือแผนลดกำลังคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 1.4 หมื่นคนให้เหลือ 7 พันคน โดย รมว.ดีอีต้องการดูแผนสร้างรายได้ก่อน เพราะหากรายได้เกิดขึ้นมากพออาจไม่ต้องลดคนก็ได้ พร้อมทั้งขอดูทรัพย์สินที่มีอยู่ว่าจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือรายจ่ายมากกว่ารายได้ อีก 2-3 ปีจะอยู่ไม่ได้ และที่สำคัญ NT ไปทำอะไรก็มักจะแพงกว่าคนอื่น

‘ผมกำลังจะเข้าไปดู NT อย่างละเอียด มี 2 เรื่องหลักๆ คือเรื่ององค์กรและเรื่องการหารายได้ให้อยู่รอด ตอนนี้วัฒนธรรมของ CAT กับ TOT ยังไม่หลอมรวมกันอย่างสนิท ความจริง NT มีทรัพย์สินประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นหน่วยงานที่มีโครงสร้างที่ทำดีๆ จะแข็งแกร่งมาก ผมจะให้การบ้านไปว่า 3 ปีนี้ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น องค์กรจะอยู่ลำบาก ผมมีความห่วงใยพอสมควร แต่ว่าตอนนี้ยังแก้ทัน’

ในสายตา รมว.ดีอีเห็นว่าบอร์ดใหม่ที่จะแต่งตั้งเข้ามาให้ครบ 13 คนก่อนในช่วงแรกและอาจขยับให้ครบ 15 คนในเวลาต่อมา เชื่อได้ว่าบอร์ดใหม่คงเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้

‘แม้เป็นโครงการที่อนุมัติไปแล้ว แต่ไม่ใช่ผมจำเป็นต้องทำต่อ ผมรู้ว่ามันมีแรงขับเคลื่อน มีแรงผลักดัน ตัวเดียวแหละ ถ้าคนเราไม่คิดเรื่องนั้น โครงการนี้ก็คงไม่เกิด’ ประเสริฐกล่าวและย้ำว่า ‘ผมให้ระงับไว้ก่อน เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว ในเมื่อมีเสียงดังรอบด้านก็ต้องรับฟัง ห้ามเดินหน้าต่อ เบรกไว้อยู่ เรื่องนี้แสดงถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารงาน ถ้าพลาดขึ้นมาจะเป็นเรื่องใหญ่ของ NT ความจริง NT น่าจะไปจับมือกับไฟฟ้าหรือประปาทำเรื่องสมาร์ทมิเตอริ่ง คิดราคาอย่าให้แพง อย่าไปแข่งกับเอกชน เพราะแข่งยากแค่ทำเรื่องโปรโมชันต้องผ่านขั้นตอนมาก ต้องผ่านบอร์ด ช้ากว่าเอกชนที่ประชุมวันนี้ออกโปรโมชันได้เลย’

***ราคาคุย NT

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 พ.อ.สรรพชัยย์ เคยกล่าวถึงการดำเนินการคลื่น 700 MHz ว่า NT ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน หลังจาก ครม. อนุมัติงบประมาณ จำนวน 61,628 ล้านบาท เพื่อให้ดำเนินการในโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 15 ปี สำหรับกรอบวงเงินดำเนินการ 61,628 ล้านบาทนั้น แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน 30,602 ล้านบาท เช่น ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz 20,584 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดหาโครงข่ายร่วมกับพันธมิตร 9,300 ล้านบาท และอุปกรณ์โครงข่าย 718 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 31,026 ล้านบาท เช่น ค่าดำเนินการโครงข่าย Network Cost 29,236 ล้านบาท ค่าบุคลากร 1,615 ล้านบาท และค่าดำเนินการอื่นๆ 175 ล้านบาท

โดย NT ได้เปิดให้บริการนำร่องก่อนจำนวน 5 สถานีฐานที่ NT สำนักงานใหญ่แจ้งวัฒนะ ก่อนที่จะมีการขยายไปพื้นที่อื่นๆ คาดว่าจะให้บริการได้ทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายน 2566

ทั้งนี้ NT จะนำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ได้จากการประมูลมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยี 4G/5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถพัฒนาบริการใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาด รองรับผู้ใช้บริการรายเดิมบนคลื่น 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ที่สิทธิการใช้คลื่นของ NT กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 สิงหาคม 2568 รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายใหม่ๆ ตามแผนการตลาด และเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต

‘สัญญาที่ทำร่วมกับพันธมิตรเดิมจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2568 นี้ หวังว่ารายได้ที่เกิดจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการ 4G/5G ในคลื่นความถี่ 700 MHz จะนำมาชดเชยรายได้ของ NT หลังจากที่สิ้นสุดสัญญากับพันธมิตร รวมทั้งลูกค้าของ NT กว่า 2 ล้านเลขหมายเข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย’

ทั้งนี้ คลื่น 700 MHz มีกลุ่มเป้าหมายทั้งส่วนของลูกค้ารายย่อย 3.6 ล้านราย เช่น ลูกค้าเดิมที่ใช้บริการอยู่ 2 ล้านราย กลุ่มนักท่องเที่ยวขาเข้า 2-4 แสนซิมต่อปี กลุ่มลูกค้า IoT Connectivity และ New devices ลูกค้าองค์กรภาครัฐ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าทดแทนโทรศัพท์พื้นฐาน จำนวน 9 แสนเลขหมาย

โครงการนี้นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อ NT ให้สามารถสร้างรายได้และพลิกฟื้นธุรกิจในสถานการณ์ที่การแข่งขันสูงได้แล้ว ยังมีผลบวกต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม คือ ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในการช่วยลดต้นทุนของอุตสาหกรรมในภาพรวม เกิดการแข่งขันในตลาด เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้รับบริการนอกเหนือจากผู้ให้บริการหลัก 3 ราย

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นว่า NT กำลังเจอปัญหาหนักทั้งภายในและภายนอก หากพูดถึงภายในหนีไม่พ้นเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ยากจะเข้ากันหรือกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ต่างจากการสุมฟืนเข้ากองไฟ เห็นได้จากเหตุการณ์ที่จังหวัดตรัง ที่แก้ปัญหากันจนทำให้จังหวัดที่ทำรายได้เป็นแนวหน้าในภาคใต้กลายเป็นจังหวัดที่ทำรายได้เป็นแถวหลังแทน ส่วนภายนอกเลิกพูดถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขันกับเอกชน ที่แทบจะปิดประตูตาย แค่กรณีคลื่น 700 MHz ที่ประมูลมาได้ในราคา 3.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เอกชนรายใหญ่มีต้นทุนเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท แถม NT ยังยื่นแต้มต่อให้คู่แข่งด้วยการจ่ายค่าคลื่นไปแล้วกว่า 6 พันล้านบาท โดยที่ไม่มีรายได้เกิดขึ้น ซึ่งตามมาด้วยคำถามว่าหากแผนธุรกิจดีจริง ทำให้ต้องหั่นครึ่งความถี่ 700 MHz ให้ AIS

‘มีคนพูดว่าตอนแบ่งคลื่น 700 MHz ให้ AIS ก็บอกชัดเจนว่าจะทำตลาดเฉพาะกลุ่มไม่แข่งกับเอกชน แต่จนถึงตอนนี้ NT ก็ยังทำตลาดแมสเหมือนเดิม โดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้’

ประเสริฐกล่าวสรุปถึงภาพโครงการ 700 MHz ในสายตาว่า ‘ถ้าทำโครงการโดยคิดจะซื้อของกินส่วนต่าง ผมคงต้องเบรกเลย ทบทวนใหม่แล้วอาจเลิกไปเลย แล้วหาทางเจรจาคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ไปเลยก็ได้’


กำลังโหลดความคิดเห็น