การเข้ามารับบทบาทในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความสำคัญของ กจญ.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จึงถูกจับตามองจากหลายฝ่ายทั้งในแง่ของการทำงาน และผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงของการปรับโครงสร้างองค์กรหลังการควบรวมของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม
สัญญาณที่เกิดขึ้นหลังผ่านช่วง 11 เดือนของปี 2566 ของ NT เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากคำให้สัมภาษณ์ของ ‘พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่ชี้ให้เห็นว่า จากแผนเดิมที่คาดไว้ว่าในปีนี้จะขาดทุน 4,000 ล้านบาท แต่จากผลประกอบการล่าสุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน มีทิศทางที่รายได้กลับมาเป็นบวก เพียงแต่เหลือในช่วงโค้งสุดท้ายเดือนธันวาคมว่าจะมีค่าใช้จ่ายเข้ามามากแค่ไหน ซึ่งเชื่อว่าถึงสิ้นปีภาพรวมจะขาดทุนไม่สูงมากนัก
“การที่ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา NT สามารถพลิกจากแผนขาดทุน 4,000 ล้านบาท กลับมาทำให้รายได้เป็นบวกได้นั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ทำได้สูงกว่าแผนที่วางไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท จึงทำให้ทำได้ดีกว่าแผนที่วางไว้”
อย่างไรก็ตาม NT กำลังเผชิญปัญหาสำคัญที่กำลังจะตามมาในอนาคต ทั้งการขาดรายได้จากพันธมิตรในแง่ของส่วนแบ่งรายได้จากการใช้คลื่นความถี่ในธุรกิจโมบาย รวมถึงค่าใช้จ่ายจากโครงการเกษียณอายุที่ตั้งเป้าพนักงานเข้าร่วมไว้ 1,200 คน จากปัจจุบันที่มีพนักงานในองค์กรกว่า 12,600 คน ไม่รวมทีมงานที่เป็นเอาต์ซอร์ส
“ในปี 2567 ตามแผนที่วางไว้ถ้าไม่นับรวมโครงการเกษียณอายุ NT จะมีกำไรถึง 2,000 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายจากโครงการที่ใช้งบประมาณราว 3,800 ล้านบาท ทำให้เป้าหมายรายได้ปีหน้า 89,000 ล้านบาทนั้นยังขาดทุนถึงราว 1,700 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่สามารถหารายได้ใหม่เข้ามาทดแทนได้ ทาง NT จะต้องลดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกัน”
สิ่งที่ท้าทายตามมาคือเมื่อมีการควบคุมค่าใช้จ่าย งบประมาณในการลงทุนจะถูกตัดออกไปด้วย ซึ่งจากแผนที่ทาง กจญ. เตรียมนำเสนอคณะกรรมการบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในช่วงต้นปี 2567 จะมีการปรับให้เลือกลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่มีความจำเป็น และสร้างโอกาสในการทำรายได้เท่านั้น
“ก่อนหน้านี้ NT มีการลงทุนเยอะเกินไปในระดับปีละ 8,000-10,000 ล้านบาท เพียงแต่จากนโยบายว่าถ้าไม่สามารถเพิ่มรายได้ในการให้บริการได้ ก็ไม่เหมาะสมที่จะลงทุนสูงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2567 นี้ มีการตั้งงบลงทุนไว้ราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นงบลงทุนที่ถูกตัดออกไปแล้วราว 1,000 ล้านบาทในธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้”
***หยุดเลือดไหล งดลงทุนในธุรกิจไม่ทำกำไร
สำหรับการลงทุนของ NT ในปีหน้าหลักๆ จะเน้นที่การขยายโครงข่ายในการให้บริการ 5G บนคลื่น 700 MHz ที่เริ่มดำเนินการแล้วในปีนี้ ขณะที่ 5G คลื่น 26 GHz ได้มีการชะลอการลงทุนออกไป เนื่องจากปัจจุบันเครื่องลูกข่าย (สมาร์ทโฟน-สมาร์ทดีไวซ์) ที่รองรับการใช้งานยังมีจำนวนน้อย ทำให้มีการปรับเปลี่ยนแผนในการลงทุน 26 GHz เป็นเฉพาะในโครงการต่างๆ ที่จะมีการใช้งานเท่านั้น และเลือกใช้คอร์เน็ตเวิร์กเดียวกับที่ใช้บนคลื่น 700 MHz ทำให้สามารถลดงบลงทุนจากที่เดิมเสนอไว้ 1,000 ล้านบาท ลงมาเหลือ 800 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังมองถึงการทำโมเดล Network Sharing บนคลื่น 26 GHz เหมือนที่เป็นพันธมิตรกับทาง AIS ในการโอนคลื่น 700 MHz ไปให้ AIS ลงทุน 4G/5G 700 MHz 13,500 สถานีฐาน ในระยะเวลา 2 ปี แลกกับการที่ NT สามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 4G/5G ได้ตลอดอายุใบอนญาตใช้งานคลื่นความถี่ที่จะสิ้นสุดในปี 2579 รวมถึงลูกค้า NT ยังสามารถโรมมิ่งใช้งานคลื่นอื่นๆ ของ AIS ได้อีกด้วย
โดยผู้บริหาร NT มองว่า โมเดล Network Sharing จะช่วยประหยัดการลงทุน รวมถึงค่าเสียโอกาสจากการที่ไม่ได้นำคลื่นมาให้บริการ เพียงแต่การที่คลื่น 26 GHz ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานค่อนข้างสูง เพราะส่วนใหญ่ถูกใช้ในภาคธุรกิจเป็นหลัก ทำให้โอกาสที่จะหาพันธมิตรมาลงทุนยากกว่าคลื่น 700 MHz
ทั้งนี้ ความท้าทายสำคัญของ NT ที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจโมบาย คือในปี 2568 คลื่นความถี่ที่ถือครองทั้ง 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz จะสิ้นสุดลง ซึ่งในคลื่น 2300 MHz ทาง NT ใช้โมเดลให้ดีแทคลงทุนโครงสร้างและใช้คลื่นของ NT ซึ่งเปิดทางให้สามารถซื้ออุปกรณ์เครือข่ายคืนได้ แต่ถ้าซื้อกลับมาแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรที่จะต้องลงทุน ขณะที่คลื่น 850 MHz จะใช้ในลักษณะของการเช่าใช้เพียงแต่ทั้งหมดต้องรอแนวทางที่ชัดเจนของ กสทช.ที่จะเปิดทางให้ NTใช้งานคลื่นต่อไปหรือไม่
“ถ้าถึงเวลาที่คลื่นหมดอายุ ถ้า NT ไม่สามารถเจรจาต่อระยะเวลาใช้งานคลื่นได้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ให้พันธมิตรลงทุนไปก็หมดประโยชน์ ไม่มีความจำเป็นที่จะไปซื้อคืนกลับมา ซึ่งแนวทางสำคัญที่ NT จะเสนอคือการนำคลื่นไปให้บริการในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงดิจิทัลได้”
ขณะเดียวกัน ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำตลาดของ ‘my by NT’ ที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้าใช้งานโทรศัพท์มือถืออยู่ราว 2 ล้านราย ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ 2.5 ล้านราย ซึ่งจะมีโอกาสในการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสม หลังจากการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในไทยมีการควบรวมจากรายใหญ่ 3 ราย เหลือ 2 ราย
“ในตลาดธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เมื่อผู้ให้บริการเหลือน้อยรายลงทำให้การแข่งขันน้อยลงด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มของราคาเหมาจ่าย ซึ่งถ้า my by NT มีการโฟกัสให้เหมาะสม ยังมีโอกาสที่จะเข้าไปเจาะตลาดนี้ได้ เพราะในกลุ่มนี้คุณภาพของการให้บริการไม่ได้แตกต่างกัน”
รวมถึงยังมองโอกาสในการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ นำ my by NT เข้าไปให้บริการในกลุ่มของ 5G IoT ที่เป็นการส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ไปยังอุปกรณ์ (M2M : Machine-to-Machine) ที่ไม่ต้องใช้แบนด์วิดท์จำนวนมากในการส่งข้อมูล ซึ่ง 5G 700 MHz ที่มีอยู่สามารถให้บริการได้ ที่เหลือจะเป็นการให้บริการในกลุ่มของลูกค้าหน่วยงานราชการ และภาครัฐต่างๆ
โดยคาดว่าในปีนี้ NT จะมีรายได้จากธุรกิจมือถือราว 42,000 ล้านบาท ซึ่งราว 1,500-2,000 ล้านบาท จะมาจากการให้บริการของ NT ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากพันธมิตรที่มาใช้งานคลื่นความถี่ให้บริการ
***NT Broadband หยุดขยายพื้นที่ รักษาฐานลูกค้า
สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไม่ทำกำไร และยังส่งผลกระทบให้ธุรกิจขาดทุนประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท จึงกลายเป็นธุรกิจที่ NT จะยุติการลงทุนในปี 2567 และนับเป็นปีแรกที่ตัดงบประมาณเยอะมากในธุรกิจบรอดแ
บนด์
กจญ.NT ชี้ให้เห็นว่า การหยุดลงทุนในธุรกิจบรอดแบนด์ของ NT คือจะใช้งานพอร์ตเท่าที่มีอยู่เดิมและเลือกลงทุนขยายเพิ่มเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่างเช่นมีความต้องการใช้งานจากหน่วยงาน หรือภาคธุรกิจเข้ามาและเลือกเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดรายได้ พร้อมไปกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดูแลและบำรุงรักษาตลอดทั้งปี
“ลูกค้าที่ใช้ NT Broadband จะไม่ได้รับผลกระทบจากการลดงบการลงทุนนี้ เพราะคุณภาพในการให้บริการหลังการขายต่างๆ ยังเหมือนเดิม เพราะจากที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้พอร์ตในการเชื่อมต่อมีอยู่พอให้ทำตลาดอยู่แล้วรวมถึงการขยายพื้นที่ให้บริการเน็ตประชารัฐก็ลงทุนทำให้ครอบคลุมทั่วประเทศไปเรียบร้อยแล้ว”
ทั้งนี้ NT ยังมองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมของ AIS และ 3BB ในธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ ที่จะทำให้ AIS-3BB Fibre3 มีพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ทาง NT จะต้องเปลี่ยนวิธีการในการทำตลาด อย่างการเพิ่มดีลเลอร์เข้ามาช่วยในพื้นที่ที่สามารถแข่งขันได้
“ในตลาดบรอดแบนด์ก็เช่นกัน เมื่อมีจำนวนผู้ให้บริการน้อยลง การแข่งขันทางด้านราคาจะไม่สูงเท่ากับที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นว่า NT broadband มีตลาดเฉพาะที่อยู่ได้จากค่าเฉลี่ยการใช้งานต่อเดือนต่ำราว 400 บาท ซึ่งจะเป็นลูกค้าที่ต้องการเน็ตความเร็วสูงใช้งานในบ้าน ไม่ได้เน้นว่าต้องเร็วระดับ Gbps แค่เพียงพอให้ใช้งาน”
เพียงแต่ที่ผ่านมา NT Broadband มีจุดที่ต้องปรับปรุงในเรื่องของการไม่ค่อยดูแลลูกค้าที่ใช้งานเดิม เรื่องของบริการหลังการขายที่ช้าและความคล่องตัวในการชำระเงินซึ่งในสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถปรับปรุงได้ โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับลูกค้าที่ใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจบรอดแบนด์ยังสามารถไปต่อไป
***ธุรกิจดิจิทัล ความหวังในการสร้างรายได้
นอกเหนือจาก 2 ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่ NT ที่มีทิศทางการเติบโตในอนาคตที่ไม่สดใส และธุรกิจ NT IIG (International Internet Gateway) ที่อัตราการใช้งานลดน้อยลง NT ยังมีอีก 2 ธุรกิจที่ยังสามารถรักษาการเติบโตได้อยู่ อย่างธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ที่ให้บริการฟิกซ์ไลน์ หรือโทรศัพท์บ้าน ที่ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งานราว 2 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจใช้งาน
“ความน่าสนใจของธุรกิจฟิกซ์ไลน์หลังจากผ่านช่วงโควิดมา คือเริ่มมีผู้ประกอบการ SMEs มาเปิดใช้งานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจต้องการสร้างความน่าเชื่อถือในการทำตลาด ในจุดนี้ NT จะใช้การอัปเซลล์อย่างการให้สิทธิพิเศษในการโทร.โรมมิ่งระหว่างฟิกซ์ไลน์ กับโมบาย แบบไม่เสียค่าบริการเข้าไปเจาะตลาดเพิ่มเติม รวมถึงโปรโมชันอย่างสมัครใช้งานโทรศัพท์บ้านแถมประกันอัคคีภัยที่ทำร่วมกับพันธมิตร พร้อมกับการลดชุมสายโทรศัพท์ประจำที่กว่า 530 แห่ง ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณเพิ่มเติมได้”
ขณะที่ธุรกิจดิจิทัล ที่ NT ตั้งเป้าในการเติบโตไว้ 20%ในปีหน้า และภายใน 3 ปีข้างหน้ารายได้จะขึ้นไปอยู่ระดับหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากการให้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ที่ปัจจุบันมีหน่วยงานที่รอเข้ามาใช้งานอีกจำนวนมากซึ่งถ้ามีงบประมาณเข้ามาก็จะช่วยให้เกิดรายได้แก่ NT เพิ่มเติมได้
NT ยังมีโอกาสในการหารายได้จากอสังหาริมทรัพย์ ที่มีที่ดินกว่า 2,400 ไร่ แต่สามารถสร้างรายได้กลับมาเพียง 900 ล้านบาทเท่านั้น รวมถึงการเข้าไปลงทุนในผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัป หลังได้รับอนุมัติงบประมาณในการลงทุน CVC และโอกาสในการแยกธุรกิจดิจิทัลออกมาตั้งบริษัทใหม่ด้วย
พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวทิ้งท้ายถึงโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น หลังจากมีการแต่งตั้งบอร์ดใหม่เพิ่มเติมว่าในตอนที่ตอบรับเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้วางเป้าหมายไว้ที่การแก้ไขปัญหาองค์กร ด้วยการทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและเมื่อจากไปต้องไม่เสียใจที่ไม่ได้ทำ