xs
xsm
sm
md
lg

ส่องทางรอด 'nt'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดธุรกิจ nt ปี 2568 หลังรายได้หาย 5 หมื่นล้านบาท จากการที่ใบอนุญาตให้บริการคลื่นความถี่ 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่นำไปให้บริการร่วมกับพันธมิตรจะสิ้นสุดลงทำให้ nt ต้องเร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ลดค่าใช้จ่าย หาพันธมิตรและสร้างแหล่งรายได้ใหม่เข้ามาให้องค์กรเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

โจทย์หลักที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือการปรับลดค่าใช้จ่ายขององค์กร ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักที่เกิดขึ้นหลังจากการควบรวมระหว่างทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมา nt เริ่มดำเนินงานในหลายภาคส่วนทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ที่จะเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปี 2567 รวมถึงการประกาศโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดที่ตามแผนเดิมตั้งใจว่าจะใช้ระยะเวลา 3 ปี (สิ้นสุดปี 2566) นับตั้งแต่ควบรวมเพื่อปรับลดจำนวนพนักงานลง แต่กลายเป็นว่าไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ จากเป้าหมาย 1,600 คน มีพนักงานเข้าร่วมราว 851 คนเท่านั้น

ก่อนที่ nt จะนำเสนอแผน 5 ปี ระหว่าง 2566-2570 ให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์ในการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความกระชับมากขึ้น ในการลดพนักงานจาก 13,082 คน ลดเหลือราว 7,000 คน หรือราว 50% ของพนักงานที่มีในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันค่าใช้จ่ายของ nt ราว 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนของบุคลากร

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ nt กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาว่า รายได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะตามแผนที่นำเสนอ สคร. คาดไว้ว่าปีนี้จะขาดทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่ด้วยการปรับรูปแบบในการให้บริการบางส่วนทำให้มีรายได้จากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และบริการดิจิทัลเพิ่มเข้ามา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่ำกว่าที่คาดไว้

“ปกติรายได้รวมของ nt ในแต่ละปีจะอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท เป็นของ nt ราว 40-50% และที่เหลือเป็นรายได้จากพันธมิตรที่เข้ามาร่วมให้บริการ ซึ่งกลายเป็นว่าแม้ในปีนี้ และปีหน้ายังมีรายได้หลักจากการให้บริการร่วมกับพันธมิตรเป็นหมื่นล้านแล้วยังติดลบ แต่หลังปี 2568 ที่รายได้หายไป 5 หมื่นล้านบาทจะยิ่งขาดทุนมากกว่าเดิม”

โดยจากข้อมูลในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา nt มีรายได้รวมอยู่ที่ 42,447 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 40,900 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิราว 1,547 ล้านบาท แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการหักค่าใช้จ่ายโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดให้พนักงาน 851 คน เป็นจำนวน 2,185 ล้านบาท ทำให้กลายเป็นว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2566 nt ขาดทุนอยู่ 638 ล้านบาท

ในขณะที่ครึ่งปีหลังยังมีโอกาสที่ปีนี้จะกลับมามีกำไร เพราะในการดำเนินการแต่ละเดือนจะมีกำไรอยู่ที่ราว 200-300 ล้านบาท ทำให้คาดว่าจนถึงสิ้นปีถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นรายการพิเศษอย่างเรื่องคดีความ หรือค่าใช้จ่ายตกเบิกเข้ามา จะทำให้ปีนี้ nt มีกำไรราว 1,200 ล้านบาท


ทั้งนี้ รายได้ของ nt ในปัจจุบันมาจาก 6 กลุ่มธุรกิจด้วยกัน ซึ่งรายได้หลักจะมาจากธุรกิจโมบาย ที่มีทั้งในฝั่งของ nt Mobile ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ราว 2 ล้านราย มีรายได้ 1,194 ล้านบาท และมีโจทย์ใหญ่ที่รออยู่คือการย้ายฐานลูกค้าไปใช้งานคลื่น 5G ความถี่ 700 MHz

ส่วนในฝั่งของการให้บริการคลื่นความถี่ร่วมกับพันธมิตร AIS และ True ในการเช่าใช้คลื่น 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz สร้างรายได้ราว 22,303 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เพราะจะสามารถให้บริการได้ถึงปี 2568 เท่านั้น รวมถึงปัจจัยการควบรวมระหว่างทรู และดีแทค ทำให้การใช้งานคลื่นของ nt ลดลง

ถัดมาคือในธุรกิจ nt Broadband หรือฟิกซ์บรอดแบนด์ที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้าราว 1.8 ล้านราย รายได้ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 9,289 ล้านบาท ลดลงเกือบ 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้ระดับหมื่นล้านบาท ทำให้เริ่มมองหาแนวทางในการทำธุรกิจบนบทบาทใหม่ที่จะเข้าไปซัปพอร์ตหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น ส่วนที่เหลือจะมีรายได้จะการให้บริการธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ราว 4,807 ล้านบาท รายได้จากอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ 1,107 ล้านบาท ธุรกิจบริการดิจิทัล 2,032 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคือ Non-Telecom อีกราว 9 ล้านบาท

“สภาพธุรกิจของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าการใช้งานลดลงหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาด เนื่องจากในช่วงที่มีมาตรการ Work from Home ต่างๆ nt ต้องเข้าไปให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีทราฟฟิกปริมาณสูงมากแต่ไม่ได้สร้างรายได้”

แนวโน้มที่เกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 ทำให้เห็นแล้วว่าการควบรวมธุรกิจกลายเป็นทางรอดของอุตสาหกรรม ซึ่งในไทยจะมีให้เห็นแล้วทั้ง nt ที่ควบรวมระหว่างทีโอที และ กสท โทรคมนาคม การควบรวมของทรู คอร์ปอเรชัน ระหว่าง True และ dtac รวมถึงในอนาคตที่ AIS เข้าซื้อกิจการของ 3BB เพราะที่ผ่านมาแต่ละรายมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานไปค่อนข้างสูง ทำให้การควบรวมจะเข้ามาช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้

“จากจำนวนผู้ใช้งานมือถือในไทยกว่า 90 ล้านเลขหมาย จากจำนวนประชากรราว 60 ล้านคน ถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างอิ่มตัวมากๆ แล้ว ยกเว้นจะมีเทคโนโลยีจำเป็นอะไรที่เกิดขึ้นในอนาคต อย่างการที่ IoT มีการเชื่อมต่อผ่าน eSIM บนเครือข่าย 5G ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด”

***แหล่งรายได้ใหม่ 5G-ดิจิทัลเซอร์วิส-ดาวเทียม-ปล่อยเช่าพื้นที่

ในแง่ของการหาแหล่งรายได้ใหม่ที่จะเข้ามาชดเชยรายได้หลักหมื่นล้านบาทที่จะหายไปในปี 2568 nt ได้เริ่มดำเนินการเข้าไปลงทุนในหลากหลายธุรกิจที่จะมีโอกาสสร้างรายได้ในอนาคต เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจว่าการเข้าไปหาธุรกิจเดียวที่สร้างรายได้ระดับหมื่นล้านบาทนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ต้องมีการกระจายธุรกิจออกไปแทน

โดยที่ผ่านมา nt เริ่มเข้าไปลงทุนคลื่น 700 MHz และ 26 GHz ภายใต้งบประมาณช่วงแรก (ไม่รวมค่าคลื่นความถี่) 800 ล้านบาท และ 600 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่ง 5G คลื่น 700 MHz จะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วน 5G คลื่น 26 GHz จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งจะเริ่มจากการให้บริการภาคธุรกิจก่อน

“การให้บริการ 5G 26 GHz ในฝั่งของธุรกิจจะเริ่มจากการเข้าไปทำเป็นโปรเจกต์ เบสในแต่ละโครงการ เพราะปัจจุบันอุปกรณ์ยังมีราคาสูงทำให้ภาคธุรกิจที่จะเข้ามาใช้งานในช่วงแรกจะเป็นกลุ่มของโรงงานอัจฉริยะ ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจพลังงาน และการทำทรานส์ฟอร์เมชันเป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร nt ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำ 5G มาใช้เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี ว่าจะเกิดขึ้นได้ถ้ารัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่การที่โอเปอเรเตอร์ลงทุนแล้วเข้าไปมองว่าจะหารายได้อย่างไร เพราะถ้าเกิดสมาร์ทซิตีขึ้น จะทำให้เกิดการสร้างรายได้แบบทางอ้อมเข้ามาสู่เมืองจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้ nt ยังมีการเข้าไปให้บริการดิจิทัลทรังก์เรดิโอ (DTRS) ที่ปัจจุบันสร้างรายได้เกือบ 500 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีรายได้อยู่ที่ราว 80 ล้านบาท และที่สำคัญคือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีคู่แข่ง โดยหน้าที่หลักคือทำให้พื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศให้หน่วยงานภาครัฐหันมาใช้ มากกว่าแต่ละหน่วยงานไปลงทุนเอง

“ประเด็นหลักคือหลังจากควบรวมเป็น nt สิ่งที่ยังไม่ได้จากการควบรวมลดเหลือ 1 เดียว คือการที่รัฐบาลเข้ามาใช้งาน ปัจจุบันมีเพียง GDCC (Government Data Center and Cloud Service) เท่านั้นที่เริ่มใช้แล้ว ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐใช้งานโทรศัพท์มือถือของราชการ และบรอดแบนด์ ทำไมไม่ใช้ nt”

โดยปัจจุบัน GDCC มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาใช้งาน 50-80 หน่วยงาน คิดเป็นจำนวนเวอร์ชวลแมชชีนกว่า 29,000 เครื่องและรอเข้าใช้งานอีกหลักหมื่นเครื่อง เพียงแต่ข้อจำกัดในการใช้งานของ GDCC จะขึ้นอยู่กับงบประมาณ ซึ่งกลายเป็นว่าถ้ามีงบจำกัดธุรกิจนี้ก็จะไม่สามารถเติบโตได้

“ในอนาคตการถ้าหน่วยงานภาครัฐเข้าใช้งานเวอร์ชวลแมชชีนทั้งหมด nt จะปรับตัวไปส่วนของการให้บริการแพลตฟอร์มกลางที่สามารถสร้างรายได้มากขึ้น จากการนำบริการดิจิทัลเข้ามาเสริม อย่างการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้เป็น Neutral Cloud Operator”

การที่มีแพลตฟอร์มกลางจะช่วยให้ในอนาคตการเข้าไปเช่าใช้บริการจากพันธมิตร โดยเฉพาะภาคเอกชนทำราคาได้ดีขึ้นในลักษณะของการเหมาซื้อจำนวนมากทำให้ได้ราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด หรือการที่แต่ละหน่วยงานไปเช่าใช้งานตรง

ส่วนธุรกิจดาวเทียม แบ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth orbit หรือ LEO) nt เป็นพันธมิตรกับ OneWeb ในการเป็น Landing Station ที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อให้บริการ ส่วนดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้านั้น หลังจากเข้าประมูลตำแหน่งวงโคจร 126E ซึ่งคาดว่าจะยิงดาวเทียมในปี 2569 ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผน และเจรจากับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประมาณการปริมาณที่จะใช้งานในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ nt ยังอยู่ระหว่างการสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการนำที่ดินกว่า 2,400 ไร่ทั่วประเทศมาใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบันกำลังรวบรวมพื้นที่เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพ พร้อมกับผลักดันให้มีการปรับระเบียบในการปล่อยเช่าจากเดิมที่ต้องเปิดประมูล แต่เป็นการปล่อยเช่าโดยเทียบจากราคากลางเพื่อให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้น

ในส่วนของธุรกิจใหม่ หรือ Non-Telecom จะมองไปที่เรื่องธุรกิจพลังงานสะอาด EV เรื่องแอปพลิเคชันด้านฟินเทค รวมทั้งแนวคิดในการลงทุนธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์

***ปรับบทบาทใหม่สู่ National Telecom ที่แท้จริง


นอกเหนือจากการที่ให้หน่วยงานภาครัฐหันมาใช้บริการโทรศัพท์มือถือจาก nt และบริการดาต้าเซ็นเตอร์จาก GDCC ที่ nt ลงทุนแล้ว อีกส่วนคือรูปแบบการให้บริการของบรอดแบนด์ที่ต้องปรับรูปแบบให้บริการที่เหมาะสม

“บทบาทใหม่ของ nt ไม่ต้องมุ่งเน้นไปแข่งขันกับโมบายโอเปอเรเตอร์ แต่ทำอย่างไรให้ประเทศพัฒนา และทรานส์ฟอร์มให้ได้ ให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อในคุณภาพ และราคาที่เหมาะสม ไม่ต้องดีที่สุดและราคาถูกที่สุด”

ที่ต้องคำนึงถึงคือประชาชนจำเป็นต้องมี 5G ทุกหมู่บ้านหรือไม่ เพราะในเวลานี้ยังไม่จำเป็น การใช้งานในปัจจุบัน 4G เพียงพออยู่แล้ว ทำให้ 5G ยุคนี้จะเริ่มต้นสำหรับภาคธุรกิจก่อน รวมถึงในแง่ของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนไม่จำเป็นต้องบรอดแบนด์ แต่เป็นโมบายที่สามารถเข้าถึงเน็ตได้ ไม่ต้องสปีดสูง แต่ราคาอยู่ในระดับที่สามารถใช้งานได้

ที่ผ่านมา ธุรกิจฟิกซ์ไลน์ และบรอดแบนด์นับเป็นธุรกิจที่เมื่อลงทุนลากสายไปยังจุดให้บริการตามครัวเรือนเริ่มจากติดลบ ลูกค้าต้องใช้งานอย่างต่ำ 18 เดือนถึงจะคุ้มค่า ซึ่งเมื่อตลาดมีการแข่งขันกันดุเดือด ทำให้เกิดสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้นทุนในการดำเนินการสูงจนต้องเกิดการควบรวม

“nt Broadband ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีลูกค้าใหม่เข้ามาน้อยกว่าลูกค้าที่ไหลออก ทำให้รายได้ลดลงเกือบ 20% ทำให้ต้องไปดูในแง่ของคุณภาพการให้บริการที่ต้องรวดเร็วขึ้น เพราะปัจจุบัน nt มีข้อจำกัดในแง่ของการให้บริการหลังการขายที่ยังไม่มีระบบแจ้งเตือนการชำระเงิน หรือกรณีที่สายไฟเบอร์มีปัญหา ซึ่ง nt Broadband จะไม่ลงทุนเพิ่ม ใช้ศักยภาพเดิมให้เต็มที่ ไม่ลากสายไปที่ไกล ยกเว้นสนับสนุนโครงการภาครัฐที่จำเป็น”

ทิศทางที่ nt คาดหวังไว้คือการปรับเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายสายปลายทาง (Neutral Last Mile) ที่จะช่วยเข้าแก้ปัญหาทั้งเรื่องของท่อร้อยสาย และเปิดให้โอเปอเรเตอร์มาเช่าใช้ในระดับราคาที่ตกลงกันได้ ภายใต้ข้อตกลงระดับการให้บริการ (SLA หรือ Service Level Agreement)

“การลดค่าใช้จ่าย เป็นคีย์หลักในการดำเนินงานของ nt ตอนนี้”


กำลังโหลดความคิดเห็น