xs
xsm
sm
md
lg

‘AIS-3BB Fibre 3’ ยกระดับเน็ตบ้าน 13 ล้านครัวเรือนทั่วไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘AIS-3BB Fibre 3’ ชูความพร้อมขึ้นสู่ผู้นำตลาดเน็ตบ้าน ด้วยพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือน หวังสร้างจุดต่างในแง่ของคุณภาพบริการ เร็ว แรง เสถียร มองตลาดยังมีการแข่งขัน และผู้บริโภคได้ประโยชน์ กังวลมาตรการ กสทช. ให้ลงทุนในพื้นที่ไม่มีคนใช้ เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่พร้อมลงทุนตามเงื่อนไข

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า AIS เพิ่งเข้าสู่ตลาดฟิกซ์บรอดแบนด์เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา และนับเป็นการทำตลาดที่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกเทคโนโลยี เพราะในเวลานั้นเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ให้บริการด้วยสายไฟเบอร์ออปติก ทำให้สินค้า และบริการดีกว่า เร็วกว่า เสถียรกว่าอย่างแน่นอน

“สิ่งที่ภูมิใจเมื่อประกาศ AIS Fibre ผู้ให้บริการรายอื่นๆ ในตลาดได้มีการเปลี่ยนโครงข่ายจากสายทองแดง มาเป็นสายไฟเบอร์ออปติก เช่นเดียวกัน ถือเป็นส่วนที่ช่วยให้ผู้ใช้ชาวไทยได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น”

หลังจากทำตลาดในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา AIS Fibre ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการอันดับ 2 ในตลาดด้วยฐานลูกค้า 2.38 ล้านราย ในขณะที่ 3BB มีฐานลูกค้า 2.31 ล้านราย เมื่อรวมกันแล้วจะมีฐานลูกค้าราว 4.69 ล้านราย ส่วนทรู ออนไลน์ 3.79 ล้านราย และ NT 1.89 ล้านราย แสดงให้เห็นว่าทั้งตลาดเน็ตบ้านมีครัวเรือนที่ใช้งานอยู่ราว 10.37 ล้านราย

ขณะเดียวกัน ยังพบว่าพฤติกรรมของลูกค้า เวลาใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ มีรูปแบบด้วยกัน 2 อย่างหลักๆ คือ ระหว่างเดินทางใช้เครือข่ายโมบายในขณะที่เวลาอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน ก็จะสลับมาใช้งานฟิกซ์บรอดแบนด์

“AIS จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโครงข่ายฟิกซ์บรอดแบนด์ เพื่อที่จะรองรับพฤติกรรมลูกค้า โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม ถ้าลงทุนทำเองสามารถทำได้ แต่จะทำได้ช้าอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี เพื่อให้ได้ความครอบคลุม”


ดังนั้น การเข้าซื้อกิจการมูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ในครั้งนี้ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง AIS และ 3BB เนื่องจาก AIS Fibre เป็นเจ้าตลาดในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ขณะที่ 3BB มีความชำนาญในพื้นที่ต่างจังหวัด และพื้นที่ห่างไกล จากจุดเริ่มต้องของ TT&T ที่ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน จึงกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ทำให้เมื่อรวมกันแล้วในช่วงต้นปี 2024 จะสามารถให้บริการได้ครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

โดยหลังจากนี้ ทั้ง AIS Fibre และ 3BB จะเปลี่ยนแบรนด์ในการให้บริการมาเป็นชื่อใหม่ ‘AIS Fibre 3’ และ ‘3BB Fibre 3’ โดยที่ลูกค้าเดิมยังสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง เพิ่มเติมด้วยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับลูกค้า 3BB เดิม ที่สามารถเข้าไปใช้ศูนย์บริการของ AIS ในการชำระค่าบริการ หรือเข้าถึงบริการหลังการขายต่างๆ

***กำหนดกติกา แต่หลักเกณฑ์ทับซ้อน USO


สำหรับในประเด็นมาตรการของทาง กสทช. ต่างๆ ทาง AIS ไม่ได้มีความกังวล เพียงแต่ในแง่ของการเข้าไปลงทุนโครงข่ายในพื้นที่ห่างไกล จะทับซ้อนกับกองทุน USO ของ กสทช. ที่น่าจะนำเงินจากกองทุนเข้าไปให้เพื่อให้บริการแก่ประชาชนมากกว่า เพราะในมุมของผู้ให้บริการถ้าขยายไปแล้วไม่มีผู้ใช้งานก็จะไม่คุ้มค่า

“การที่ กสทช. กำหนดให้มีการลงทุนอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า เพื่อขยายเข้าไปให้ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล เฉลี่ยแล้วตกปีละ 2,000 ล้านบาทนั้น สามารถทำได้ เพราะในแต่ละปี AIS มีการลงทุนขยายโครงข่ายราว 20,000-30,000 ล้านบาทอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม AIS จะมีการเข้าไปชี้แจงกับทาง กสทช. อีกครั้ง เพราะในการออกกติกามา สามารถทำให้ได้ แต่ความไม่ถูกต้องอยู่ที่ให้ไปลงในพื้นที่ไกลๆ โดยที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น จะทำให้การลงทุนสูญเปล่า

***ตลาด ‘เน็ตบ้าน’ ยังมีการแข่งขัน


ธีร์ สีอัมพรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจบรอดแบนด์ AIS กล่าวเสริมถึงแผนในการให้บริการของทั้ง AIS Fibre 3 และ 3BB Fibre 3 ว่า ในระยะสั้นจะยังขยายบริการของทั้ง 2 แบรนด์ ในการนำพื้นที่การให้บริการมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน

“อย่างกรณีลูกค้า 3BB อยู่ในเมืองถ้าพอร์ตเต็ม ก็จะมี AIS เข้าไปเสริม หรือถ้าลูกค้าที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือของ AIS อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดก็สามารถใช้งานไฟเบอร์ของ 3BB ได้ โดยตั้งใจจะเพิ่มสินค้า และบริการที่ตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้ามากขึ้น”

โดยผู้บริหารเอไอเอสให้ความเห็นในแง่ของการแข่งขันว่า จะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อัตราการเข้าถึงใช้งานอยู่ที่ราว 50% เท่านั้น ทำให้ยังมีโอกาสที่จะเติบโตราว 5-10% ในแต่ละปี

ขณะที่เรื่องของราคายังมีกลไกทางตลาด ถ้าราคาสูงเกินไปผู้บริโภคจะไม่ใช้งาน เพราะถ้าราคาต่ำเกินไปโอเปอเรเตอร์ก็อยู่ไม่ได้ เพียงแต่ว่าราคาในช่วงที่ผ่านมาอาจจะต่ำเกินไป จนสะท้อนให้เห็นแล้วว่าผู้ให้บริการบางรายไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะในธุรกิจบรอดแบนด์เวลาเข้าไปให้บริการแก่ลูกค้าคือต้องเชื่อมต่อเข้าไปถึงบ้าน แตกต่างจากโมบายที่ติดตั้งสถานีฐานให้ครอบคลุม

“ยืนยันว่าจะแข่งกันเต็มที่ทุกโอเปอเรเตอร์ เพราะธุรกิจนี้ในแต่ละพื้นที่ ผู้ให้บริการรายย่อยสามารถเข้ามาใช้งานโครงข่ายเพื่อให้บริการได้อยู่แล้ว ดังนั้นประโยชน์เกิดกับผู้บริโภคแน่ๆ”

นอกจากนี้ AIS ยังได้ทีมงานของ 3BB เดิมเข้ามาช่วยเติมเต็มในแง่ของการขาย และการให้บริการอีกราว 6,000 คน ซึ่งด้วยขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น AIS เห็นถึงประโยชน์ของการมีทีมงานในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด และเชื่อว่าในช่วงต้นจะนำจุดแข็งมาใช้ สร้างให้เกิดความต่าง เพื่อให้บริการได้

ทั้งนี้ หลังจากรวมธุรกิจระหว่าง AIS Fibre และ 3BB จะทำให้สัดส่วนรายได้ของธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 27,000-28,000 ล้านบาท ในปีนี้ โดยคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ราว 5%


***ย้อนดูมติ กสทช. อนุญาตควบรวม ชี้ยังมีรายใหญ่ที่แข่งขันได้

สำหรับประเด็นที่ กสทช. พิจารณาอนุญาตให้ AWN ควบรวมกับทาง 3BB เกิดขึ้นจากการหารือเกี่ยวกับการลงมติในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวม กับประเด็นเรื่องของการรับทราบการควบรวมกิจการ โดยมีการลงมติ 4 เสียงที่พิจารณาอนุญาตให้มีการควบรวม ในขณะที่ประธาน กสทช. ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร ให้ความเห็นในการรับทราบการควบรวม ขณะที่ต่อพงศ์ เสลานนท์ ขอใช้สิทธิงดออกเสียง

โดยทั้ง 4 กสทช. มีอนุญาตควบรวมให้ความเห็นว่า ได้มีการเริ่มพิจารณาจากประกาศของ กสทช. ปี 61 เกี่ยวกับการรวมธุรกิจที่ทั้ง AIS และ 3BB ให้บริการอยู่ในประเภทกิจการเดียวกัน ตามมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ทำให้ กสทช.มีสิทธิในการอนุญาต พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขในการควบรวมครั้งนี้

ศุภัช ศุภชลาศัย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้มุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมว่า การรวมกิจการที่เป็นธุรกิจประเภทเดียวกันในการเข้าซื้อหุ้น ทำให้ กสทช.มีการพิจารณาสภาพตลาดที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่จาก 4 รายใหญ่เหลือ 3 รายใหญ่ จากจำนวนผู้ใช้บริการ 13 ล้านครัวเรือน

โดยที่ภายหลังการควบรวมส่วนแบ่งตลาดจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการควบรวมที่ AIS Fibre และ 3BB จะมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 40% ในขณะที่ True Online อยู่ที่ 30% และ NT Broadband อยู่ที่ 17% และยังมีหลายย่อยที่มีส่วนแบ่ง 2-3% ในตลาดอีกหลายราย

“เมื่อพิจารณาโครงสร้างตลาดใหม่ที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะมีโอกาสที่จะมีอำนาจเหนือตลาด แต่กลายเป็นว่า NT มีโอกาสที่จะถ่วงให้เกิดการแข่งขัน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของ NT ที่มีอยู่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศได้”


จากข้อมูลของ กสทช. แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานของ NT ที่วางไว้ทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่กว่า 111,000 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ True มีครอบคลุมราว 82,000 ตารางกิโลเมตร ส่วน 3BB มีพื้นที่ครอบคลุม 118,000 ตารางกิโลเมตร และ AIS Fibre ก่อนการควบควม ที่นับว่าเป็นผู้ให้บริการรายล่าสุดครอบคลุม 43,000 ตารางกิโลเมตร

ทำให้เชื่อว่าหลังจากการควบรวมมีโอกาสที่ AIS และ 3BB จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่จะเกิดขึ้น 10,000-16,943 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการให้ AIS ต้องมีการจัดทำแผนขยายโครงข่าย Fixed Broadband Access ไปยังพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ หรือพื้นที่ที่ยังไม่มีโครงข่ายในปัจจุบัน ด้วยงบประมาณไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี

“การออกมาตรการเฉพาะไม่แค่ป้องกันให้เกิดการผูกขาด หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่ยังส่งต่อผลประโยชน์ไปสู่ผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”

เมื่อรวมกับเงื่อนไขในการให้บริการอย่างห้ามขึ้นราคา และลดคุณภาพการให้บริการ โดยต้องคงราคาแพกเกจต่ำสุดที่ให้บริการอยู่ และแพกเกจที่ลูกค้าใช้งานในปัจจุบันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยในแต่ละจังหวัด ด้วยการเปิดให้ผู้บริหารรายอื่นเช่าใช้โครงข่าย เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในทุกเทคโนโลยีที่ให้บริการด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น