xs
xsm
sm
md
lg

‘ฐากร’ ปูดพิรุธ ‘ดีอี-คมนาคม’ พบ ‘บิ๊ก ขรก.’ เรียกส่วยตั้งเป้า 800 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘ฐากร’ แฉปมพิรุธกระทรวงดีอี-คมนาคม ปูดข้อมูลบิ๊ก ขรก.เรียกส่วยผู้รับเหมาตั้งเป้า 800 ล้านบาท ตั้งข้อสงสัยประมูลโครงการ MA เน็ตประชารัฐ มูลค่า 209 ล้านบาท เอื้อประโยชน์เอกชน สหภาพฯร้องเรียนนายกฯ ส่งเรื่องให้กระทรวงดีอีพิจารณากว่า 4 เดือน เรื่องเงียบพบหลายประเด็นฉาว เตรียมแฟ้มวันเปิดสภาวิสามัญถกงบปี 68

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมสมัยวิสามัญรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายนนั้น ในฐานะที่พรรคไทยสร้างไทยเป็นฝ่ายค้าน ได้จัดเตรียมข้อมูลการอภิปรายไว้แล้ว โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนที่ร้องเรียนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีข้อพิรุธส่อไปในทางไม่โปร่งใสในหลายกระทรวง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงคมนาคม

ฐากร กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการร้องเรียนในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข้อน่าสงสัยกรณีการจัดประมูลโครงการการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐและส่วนต่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) งบประมาณ 209 ล้านบาท หรือเรียกสั้นๆ ว่าโครงการ MA ที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ภายใต้กระทรวงดีอี จัดประมูล และเซ็นสัญญากับบริษัท สหวิริยา โอเอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVOA ที่เสนอราคา 184 ล้านบาท ในขณะที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอี และเป็นหน่วยงานที่ต้องสนับสนุนนโยบายด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐ เสนอราคา 149 ล้านบาท ถูกกว่า 35 ล้านบาท แต่กลับถูกปรับตกเงื่อนไขด้านผลงาน

‘โครงการนี้สหภาพฯ NT ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องถึงกระทรวงดีอี พร้อมทั้งให้แจ้งผลการพิจารณาให้สหภาพฯ NT โดยตรง แต่ผ่านไปกว่า 4 เดือนทุกอย่างยังนิ่งเงียบ’

ฐากร ระบุว่า โครงการ MA มีข้อพิรุธหลายประการที่จำเป็นต้องตอบไม่ว่าจะเรื่องการมีบุคคลลึกลับชื่อย่อ ‘มิสเตอร์ดับเบิลที’ เรียกรับผลประโยชน์จากโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่บางรายการมากถึง 30% การบำรุงรักษาโครงข่ายหรืองาน MA นั้น จำเป็นที่ผู้ชนะประมูลจะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ รวมทั้งเรื่องผลงานที่แทนที่จะให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาโครงข่ายแต่กลับให้มีผลงานด้านการซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์แทน

นอกจากนี้แล้ว ยังพบความผิดปกติในหลายโครงการของกรมอุตุนิยมวิทยา ภายใต้สังกัดกระทรวงดีอี เช่น โครงการติดตั้งเรดาร์ตรวจอากาศ ชนิด เอส-แบนด์ (S-Band) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 350 ล้านบาท พบว่าใช้งานได้ไม่นานอุปกรณ์เสื่อมสภาพและหมดอายุประกัน กรมอุตุฯ ต้องจัดงบประมาณซ่อมบำรุงเพิ่มอีกกว่า 60 ล้านบาท รวมทั้งการจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศซึ่งมีราคาแพงกว่าปกตินำไปติดตั้งในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ติดตั้งในป่ามีต้นไม้บังทิศทางลมไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ฐากร กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลที่ได้รับมาจากกระทรวงคมนาคมนั้น พบความไม่โปร่งใสของผู้บริหารระดับกรมโดยมีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์หรือเรียกง่ายๆ ว่าค่าส่วยจากผู้รับเหมาที่ชนะงานประมูล ผู้บริหารรายนี้สั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการเป็นคนดำเนินการพร้อมกับตั้งเป้าให้ส่งส่วยในพื้นที่รับผิดชอบจากทั่วประเทศพื้นที่ละไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และขีดเส้นตายให้ผู้รับเหมาทั่วประเทศส่งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ คิดเป็นมูลค่าส่วยตกราว 800-1,000 ล้านบาท

‘ในงบประมาณปี 2567 ที่ผ่านมาบางโครงการจะยังไม่ได้ลงนามเซ็นสัญญาแต่อย่างใด ผู้รับเหมาบางรายจำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาเพื่อนำมาจ่ายให้กรม ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก’

ฐากร กล่าวว่า จากการสอบถามข้าราชการในกรมดังกล่าวได้รับทราบข้อมูลว่า การเรียกรับเงินค่าโครงการของกรมนั้นมีมานานแล้ว แต่อัตราที่เรียกเก็บนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารในแต่ละยุคสมัย โดยที่ผ่านมาอัตราที่มีการเรียกเก็บประมาณ 12% ของมูลค่างาน

‘ล่าสุด ผู้บริหารกรมคนนี้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งเก็บเงินจากผู้รับเหมาทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าว่า เดือนพฤษภาคม 2567 ทุกพื้นที่จะต้องส่งเงินพื้นที่ละ 20 ล้านบาทเป็นอย่างน้อยและต้องส่งเงินให้ได้โดยเฉลี่ยพื้นที่ละ 30 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะมีสะพัดในกรมไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท’

ฐากร กล่าวว่า ผู้บริหารคนดังกล่าวยังกำชับเจ้าหน้าที่ให้โทรศัพท์ไปยังหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดเร่งส่งเงินตามเป้าหมาย มิฉะนั้นจะถูกโยกย้าย

ฐากร กล่าวสรุปว่า จากข้อร้องเรียนทั้งหมดที่พรรคไทยสร้างไทยได้รับข้อมูลมานั้น ประมวลในเบื้องต้นได้ว่า พฤติการณ์คอร์รัปชันทั้งของข้าราชการและผู้บริหารกระทรวงในรัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้ง ดูจะเรียกส่วยมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ และในบางกระทรวงอาจจะมีการทุจริตมากกว่าด้วยซ้ำไป

‘ถ้าหากขบวนการคอร์รัปชันในวงราชการยังเป็นเช่นนี้อยู่ การผลักดันให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความสุจริตโปร่งใสเหมือนประเทศที่เจริญแล้วอย่างเช่นสิงคโปร์คงยังเป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ’


กำลังโหลดความคิดเห็น