xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิของผู้พิการ ... เมื่อมีการฟ้องห้ามก่อสร้างสะพานลอย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“19 ปี ศาลปกครอง ก้าวไกลบนแผ่นดินทองเพื่อผองไทย”

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบเปิดทำการ ๑๙ ปี ของศาลปกครองซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาชนคงจะได้เห็นผลงานหรือผลการตัดสินคดีของศาล และมีหลาย ๆ คดีเป็นคดีที่มีความสำคัญและสังคมให้ความสนใจ และในช่วงเดือนมีนาคมนี้เอง ก็มีเหตุการณ์หลาย ๆ เรื่อง ที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของทุกคนอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม...เหตุการณ์นี้ ก็ทำให้สังคมเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้ที่จะดูแลป้องกันตนเอง และเกิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างมาก ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากรัฐบาลแล้ว ก็คือความร่วมมือของประชาชนทุกคน ที่จะต้องก้าวผ่านไปให้ได้ด้วยความมีสติและ
มีอารยะ เป็นกำลังใจให้กันและกัน รวมทั้งส่งกำลังใจให้ทุกประเทศทั่วโลกด้วย

กลับมาที่ศาลปกครองและคดีปกครอง จะเห็นได้ว่า... นอกจากการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม
ในคดีปกครองแล้ว ศาลปกครองยังได้ดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้สิทธิฟ้องคดีอย่างถูกต้อง และการเผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

การทำหน้าที่ของศาลปกครองในการให้ความเป็นธรรมในคดีปกครอง เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ผ่านมานั้น มีคำพิพากษาตัดสินคดีเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้พิการหลาย ๆ คดีที่น่าสนใจ เช่น

Ø กรณีทนายความซึ่งมีรูปกายพิการท่านหนึ่ง ได้ยื่นสมัครสอบเป็นข้าราชการอัยการ
ซึ่งคณะกรรมการอัยการมีมติไม่รับสมัครด้วยเหตุว่า มีรูปกายพิการไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ
แต่เมื่อทนายความคนดังกล่าวมีความสามารถที่แท้จริงในการประกอบอาชีพทนายความและทำงานได้เช่นทนายความปกติทั่วไป โดยไม่เคยขออภิสิทธิ์กรณีใดเป็นพิเศษ สามารถขับรถยนต์ส่วนตัวได้ รวมทั้งสามารถใช้แขนขวาเขียนหนังสือได้นานเช่นเดียวกับคนปกติ การตัดสิทธิในการสมัครสอบอัยการเพราะขาดคุณสมบัติจึงขัดต่อหลักความเสมอภาคและไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 142/2547)

Ø กรณีตัวแทนผู้พิการได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครและบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้มีการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับผู้พิการหรือผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้เสมอภาคเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ซึ่งศาลปกครองพิพากษาให้กรุงเทพมหานครจัดทำลิฟต์พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ สำหรับผู้พิการตามที่กฎหมายกำหนด และให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ความร่วมมือสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการจัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกดังกล่าว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่อ. 650/2557)

ในส่วนคดีที่จะคุยกันในวันนี้... เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้พิการในฐานะผู้ร้องสอดในคดีปกครอง เนื่องจากเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยที่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งย่อมมีส่วนได้เสียในผลของคดีดังกล่าว

ลองมาดูข้อกฎหมายและที่มาของการเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีกันก่อนค่ะ

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองมีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง คือ บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ฟ้องคดี

โดยบุคคลดังกล่าวอาจเข้ามาเป็นคู่กรณีตั้งแต่เริ่มคดี คือ เป็นผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี หรือจะเข้ามาเป็นคู่กรณีในภายหลังด้วยการร้องสอดตามข้อ 78 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ที่กำหนดไว้ว่า “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่กรณีอาจเข้ามาเป็นคู่กรณีได้ด้วยการร้องสอด ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา 57 และมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งประมวลกฎหมายข้างต้น กำหนดให้บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่กรณีในคดีใดคดีหนึ่ง อาจร้องขอเข้ามาเป็นคู่กรณีโดยความสมัครใจเองในคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหรือก่อน
ศาลมีคำพิพากษาได้ หากเห็นว่าจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ หรือมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น

มาดูกันต่อว่า ผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยจะมีสิทธิยื่น
คำร้องสอดเข้ามาในคดี เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีที่นายตี๋ได้ยื่นคำฟ้องไว้หรือไม่ ?

ที่มาของการฟ้องคดีเกิดจาก... นายตี๋เจ้าของโรงรับจำนำได้รับความเดือดร้อนจากการที่
กรมทางหลวงชนบทมีโครงการก่อสร้างทางลดระดับบริเวณถนนสุขุมวิท - แยกพัทยากลาง โดยมีแผนที่จะก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์โดยสารในบริเวณซึ่งกีดขวางทางเข้าออกและบดบังตัวอาคารพาณิชย์ที่เป็นโรงรับจำนำของนายตี๋ นายตี๋จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้กรมทางหลวงชนบทยกเลิกตำแหน่งและห้ามก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์โดยสารบริเวณหน้าอาคารพาณิชย์ของตน

ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ผู้ร้องทั้งหกซึ่งเป็นบุคคลที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหว ทางสติปัญญา ทางการมองเห็น และทางการได้ยิน ได้ยื่นคำร้องสอดว่า การก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์โดยสารเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ร้องทั้งหกและคนพิการทุกประเภทที่พำนักบริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง และในส่วนที่กรมทางหลวงชนบทได้กำหนดให้ติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่างตลอดแนวสะพานและกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันเหตุร้าย ย่อมป้องกันความไม่ปลอดภัยให้แก่นายตี๋ได้ โดยการก่อสร้างสะพานลอยดังกล่าวจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ อันสอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550

ผู้ร้องทั้งหกจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เมืองพัทยาและกรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์โดยสารต่อไป แต่ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า การก่อสร้างดังกล่าวเป็นผลดีและมิได้ทำให้ผู้ร้องทั้งหกได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย และคำร้องสอดดังกล่าวเป็นเพียงการเห็นพ้องด้วยและสนับสนุนให้มีการสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์โดยสารเท่านั้น ยังไม่ถือเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องทั้งหก หรือผู้ร้องทั้งหกมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ตามมาตรา 57
วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องสอดไว้พิจารณา ผู้ร้องทั้งหกอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ
ศาลปกครองสูงสุด

ผู้ร้องทั้งหกมีสิทธิตามกฎหมายในการยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีพิพาทที่นายตี๋ขอให้ยกเลิกตำแหน่งและห้ามก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์โดยสารหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามลักษณะทางกายภาพของถนนบริเวณที่มีโครงการก่อสร้างทางลดระดับนั้น จำเป็นต้องก่อสร้างสะพานลอยเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ข้ามถนนได้ และสะพานลอยที่จะก่อสร้างมีตำแหน่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ โดยแผนการก่อสร้างสะพานลอยนี้กำหนดให้มีการติดตั้งลิฟต์โดยสารสำหรับผู้พิการและคนชราด้วย

ดังนั้น หากศาลมีคำพิพากษาตามคำขอของนายตี๋ (ผู้ฟ้องคดี) โดยให้ยกเลิกตำแหน่งสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์โดยสารและห้ามมิให้กรมทางหลวงชนบท (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ก่อสร้างสะพานลอยหน้าอาคารพาณิชย์ของตน ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องทั้งหกที่มีความผิดปกติหรือบกพร่องทางร่างกายในการได้ใช้ประโยชน์จากสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์โดยสารดังกล่าว กรณีจึงถือได้ว่าผู้ร้องทั้งหกมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ตามนัยมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบข้อ 78 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้รับคำร้องสอดของผู้ร้องทั้งหกไว้พิจารณา (คำสั่ง
ศาลปกครองสูงสุดที่ 874/2560)

จะเห็นได้ว่า... การเข้าเป็นผู้ร้องสอดในคดี จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งไม่ว่าบุคคลทั่วไปและผู้พิการย่อมมีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ร้องสอดในคดี โดยมีสิทธิยื่นคำขอในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล แต่ต้องก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินคดี ทั้งนี้ การร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นทำได้โดยความสมัครใจเองตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดีตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (3) แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน

กรณียื่นคำร้องขอเอง หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลที่ยื่นคำร้องสอดเข้ามานั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครองหรือการบังคับตามสิทธิที่ตนเองมีอยู่ หรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น หรือศาลเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเรียกบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลก็จะมีคำสั่งอนุญาตให้บุคคลนั้นเข้ามาเป็นคู่กรณีโดยการร้องสอดได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่ายโดยทั่วถึงและเท่าเทียมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองเพื่อให้ศาลปกครองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย จึงไม่ได้มีเฉพาะการเป็นผู้เริ่มฟ้องคดีหรือถูกฟ้องคดีเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้ามาภายหลังในฐานะเป็นผู้ร้องสอดได้อีกช่องทางหนึ่ง

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)

โดย ป. ธรรมศลีญ์
กำลังโหลดความคิดเห็น