xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรมเช่นนี้... เห็นทีต้องถอด...ยศ !

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ที่ผ่านมาเราจะได้ยินกระแสเกี่ยวกับเรื่องการถอดยศกันมาก... ไม่ว่าจะเป็นการ “ถอดยศทหาร” หรือการ“ถอดยศตำรวจ” เนื่องจากทหารและตำรวจถือเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติและมีบทบาทสำคัญต่อชาติบ้านเมือง...

โดยในการที่จะถอดยศทหารหรือตำรวจนั้น จะต้องมีเหตุหรือมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งในกรณีตำรวจ ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีฯ ได้กำหนดเหตุที่ทำให้ตำรวจทั้งที่อยู่ในราชการหรือที่พ้นจากราชการแล้วต้องถูกถอดยศ เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ (ถือตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด) แม้ศาลจะรอการลงโทษก็ตาม ,ทำความผิดถึงต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ,ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ,เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ,ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป ฯลฯ

ซึ่งการถอดยศตำรวจนั้นเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่ผู้มีอำนาจจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ ฉะนั้น ในกรณีที่ตำรวจเห็นว่าตนถูกถอดยศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมจึงสามารถพึ่งศาลปกครองให้ตรวจสอบได้

เช่นในกรณีของจ่าสิบตำรวจสมควรที่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยกันจับกุมร่วมกับผู้ต้องหารายอื่น
ในข้อหาเล่นการพนัน และเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากในขณะที่ชุดตำรวจเข้าจับกุมผู้เล่นพนันไพ่ในบ้านหลังหนึ่งนั้นได้พบจ่าสิบตำรวจสมควรอยู่ในวงการพนันด้วย งานนี้จ่าสิบตำรวจสมควรให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าตนได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นสายลับ...และการจับกุมเกิดจากความเข้าใจผิดกัน
ข้ออ้างแบบนี้เห็นทีต้องพิสูจน์ครับ ! ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า การกระทำของจ่าสิบตำรวจสมควรนั้นยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่เป็นความผิดฐานไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนของตำรวจแต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกลับเห็นต่างว่าพฤติกรรมของจ่าสิบตำรวจสมควรถือเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงมีมติลงโทษให้ปลดออกจากราชการ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคจึงมีคำสั่งปลดจ่าสิบตำรวจสมควรออกจากราชการ รวมทั้งได้มีคำสั่งให้ถอดยศของจ่าสิบตำรวจสมควรด้วย 
จ่าสิบตำรวจสมควรยังมีความหวังที่จะได้ยศและตำแหน่งคืน จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดย
คดีนี้สู้กันจนถึงชั้นศาลสูง และศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า การที่จ่าสิบตำรวจสมควรได้เข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ทราบว่าบ้านหลังดังกล่าวมีการลักลอบเล่นการพนัน และจ่าสิบตำรวจสมควรก็ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานได้อย่างชัดเจนว่าตนได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นสายลับให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดที่มาจับกุม ประกอบกับขณะจับกุมจ่าสิบตำรวจสมควรก็อยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งกำลังเล่นการพนันกันอยู่ โดยที่ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นสายลับแต่อย่างใด

จึงน่าเชื่อว่าจ่าสิบตำรวจสมควรได้เข้าไปเล่นการพนันมิใช่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่กล่าวอ้าง อันเป็นการไม่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การลงโทษปลดออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนพยานที่ให้การว่าจ่าสิบตำรวจสมควรไม่ได้เล่นพนันและเอกสารที่รับรองว่าจ่าสิบตำรวจสมควรได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่นั้น ล้วนเป็นพยานที่เป็นคนใกล้ชิดและเป็นเอกสารที่ได้จัดทำขึ้นในภายหลัง ซึ่งไม่ปรากฏในชั้นจับกุมหรือชั้นสอบสวนทางวินัย กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจ่าสิบตำรวจสมควรได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในบ้านหลังดังกล่าวจริง

สำหรับประเด็นการถอดยศของจ่าสิบตำรวจสมควรนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ยศตำรวจ พุทธศักราช 2480
ได้กำหนดว่าการถอดยศสัญญาบัตรหรือการถอดยศประทวน ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งสั่งได้ตามระเบียบราชการ โดยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีฯ ได้กำหนดให้อำนาจในการถอดยศนายตำรวจชั้นประทวนตั้งแต่จ่าสิบตำรวจลงมาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการหรือเทียบเท่า ดังนั้นเมื่อจ่าสิบตำรวจสมควรได้ถูกปลดออกจากราชการด้วยเหตุเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุที่ทำให้ต้องถูกถอดยศ คำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่สั่งถอดยศจ่าสิบตำรวจสมควรจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (อ.111/2552)

สิ้นคำพิพากษาของศาล... จ่าสิบตำรวจสมควรก็ต้องกลายเป็นนายสมควรไปก่อนเวลาอันสมควรครับ...
เพื่อความครบเครื่องเรื่องถอดยศ มาว่ากันต่อถึงกรณีการถอดยศทหาร ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ได้บัญญัติว่า วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด โดยหากทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจะต้องรับทัณฑ์และอาจต้องถูกปลดจากประจำการหรือถูกถอดจากยศทหาร

โดยระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ได้กำหนดลักษณะความผิดของผู้ที่ต้องถูกถอดยศเอาไว้ เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ราชการโดยถือตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ศาลจะรอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้, กระทำความผิดที่ต้องรับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ศาลจะรอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ หรือต้องรับโทษจำคุกไม่เกินความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท, ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง, หนีราชการทหารในเวลาประจำการ, ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฯลฯ

อันที่จริง...การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารและการปลดจากประจำการหรือการถอดยศทหารซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารนั้น ก็เป็นการใช้อำนาจทางปกครองเช่นกัน หากแต่ทหารมีศาลเฉพาะเป็นของตัวเองและเรื่องระเบียบวินัยถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทหาร ฉะนั้นกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ จึงได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นว่า การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง แต่สำหรับการใช้อำนาจทางปกครองในกรณีอื่นๆ ก็ยังคงต้องอยู่ในการตรวจสอบของศาลปกครอง เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างคดีที่จะนำเสนอต่อนี้...ไม่ใช่คดีวินัยทหารโดยตรง หากแต่เป็นการฟ้องให้ชดใช้เงินจากการผิดสัญญาทุนการศึกษา อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ “สัญญาทางปกครอง” ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง โดยคดีได้มีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับวินัยทหารและการถอดยศทหารที่น่าสนใจซ้อนอยู่ด้วย และศาลปกครองสูงสุดก็ได้ช่วยยืนยันในหลักการที่ว่า วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร !
คดีนี้ นายสำคัญซึ่งเป็นนายทหารหนุ่มนักเรียนนอกที่ได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท
ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาจากกระทรวงกลาโหม ซึ่งในสัญญาได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผู้รับทุนจะต้องรับราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ไปเรียน อีกทั้งจะต้องไม่ลาออกจากราชการก่อนครบกำหนดเวลาชดใช้ทุน และจะต้องไม่กระทำความผิดใดๆ จนเป็นเหตุให้ทางราชการปลดออกจากราชการ โดยหากมีการผิดสัญญาดังกล่าวผู้รับทุนและผู้ค้ำประกันจะต้องยินยอมชดใช้เงินเป็นจำนวน 3 เท่าของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปในการศึกษาดังกล่าว

หลังจากเรียนจบแล้ว นายสำคัญก็ได้กลับมารับราชการที่กรมช่างโยธาทหารเรือ สังกัดกองทัพเรือ และต่อมากระทรวงกลาโหมก็ได้มีคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและปฏิบัติงานที่คณะกรรมาธิการการทหารสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลา 1 ปี เมื่อใกล้ครบกำหนดเวลาดังกล่าวประธานคณะกรรมาธิการการทหารฯ จึงได้มีหนังสือถึงต้นสังกัดเพื่อขอตัวนายสำคัญให้อยู่ช่วยราชการต่ออีก 1 ปี

แต่ต้นสังกัดไม่ยินยอม นายสำคัญจึงได้จัดแจงทำหนังสือถึงเจ้ากรมกำลังพลทหารเรือแจ้งว่ากำลังจะมีการประสานและทำหนังสือฉบับใหม่เพื่อขอขยายเวลาให้ตนอยู่ช่วยราชการต่ออีก 3 เดือน โดยหากครบ 3 เดือนแล้ว ตนจะไปรายงานตัวต่อต้นสังกัด

จากนั้นนายสำคัญก็ได้อยู่ช่วยราชการที่เดิมต่อไป ทั้งที่ยังไม่ได้รับหนังสืออนุมัติอย่างเป็นทางการจากต้นสังกัด ครั้นพอครบกำหนดเวลา 3 เดือน นายสำคัญจึงไปรายงานตัวต่อต้นสังกัดและก็ต้องถึงกับหงายเก๋ง !

เมื่อทราบว่ากองทัพเรือได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีกระทำผิดฐานหนีราชการทหารในเวลาประจำการเกินกว่า 15 วัน และสุดท้ายกระทรวงกลาโหมก็ได้มีคำสั่งให้ปลดนายสำคัญออกจากราชการรวมทั้งสั่งถอดยศทหารของนายสำคัญด้วย

ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น...นายสำคัญต้องตกเป็น “ผู้ผิดสัญญาทุนการศึกษา” ไปโดยปริยาย และต้องชดใช้เงินตามสัญญาโดยหักวันที่รับราชการชดใช้ออกแล้ว ยังคงเหลือเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 13 ล้านบาท !!!
นายสำคัญได้แต่ทำนิ่งเฉยไม่ยอมชำระ กระทรวงกลาโหมจึงยื่นฟ้องนายสำคัญและผู้ค้ำประกันต่อศาลปกครองเพื่อให้ชำระเงินเนื่องจากการผิดสัญญาทุนการศึกษาดังกล่าว

กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเห็นว่า นายสำคัญผิดสัญญาทุนการศึกษาจริง เพราะได้กระทำความผิดจนเป็นเหตุให้ทางราชการต้องปลดออกจากราชการ เนื่องจากไม่ไปรายงานตัวต่อต้นสังกัดทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติเป็นหนังสือจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการการทหารฯ นั้นไม่ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของนายสำคัญ จึงทำให้ต้องถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและผลการสอบสวนสรุปว่านายสำคัญจงใจขาดราชการเกินกว่า 15 วัน อันเป็นความผิดฐานหนีราชการในเวลาประจำการตามมติสภากลาโหมฯ ซึ่งมีโทษปลดออกจากราชการ ประกอบกับระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วย ผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ได้กำหนดให้การหนีราชการทหารในเวลาประจำการ อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องถูกถอดออกจากยศทหารด้วย และการที่นายสำคัญไม่ไปรายงานตัวต่อ

ต้นสังกัดตามเวลาที่กำหนดนั้นถือเป็นการกระทำผิดวินัยทหารฐานขาดราชการและขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 อันมีโทษต้องถูกปลดออกจากประจำการหรือถูกถอดยศ

ดังนั้น ขั้นตอนต่างๆ ที่กระทรวงกลาโหมดำเนินการจนกระทั่งมีคำสั่งปลดนายสำคัญออกจากราชการและถอดยศของนายสำคัญนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบแบบแผนแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงมีสิทธิที่จะเรียกให้นายสำคัญชำระเงินจากการผิดสัญญาทุนการศึกษาดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุด

จึงพิพากษาให้นายสำคัญและผู้ค้ำประกันร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจากการผิดสัญญาพร้อมดอกเบี้ย
ตามกฎหมายให้แก่กระทรวงกลาโหม ภายใน 30 วัน (อ.377/2554)
งานนี้เรียกได้ว่า... นายสำคัญได้ทำการสกัดดาวรุ่งตัวเองไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์... แถมยังต้องชดใช้เงินค่าทุนการศึกษาจำนวนมากมายอีกด้วย... แบบนี้ใช่ไหมครับที่เขาเรียกกันว่า “บทเรียนราคาแพง”
ข้าราชการทหารและตำรวจ ผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน...เมื่อเป็นบุคคลที่อยู่ในเครื่องแบบอันทรงเกียรติ ก็ควรต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และระมัดระวังไม่นำพาตัวเองไปสู่เหตุที่อาจทำให้ถูกถอดยศได้ และขอเป็นกำลังใจให้กับทหารตำรวจซึ่งส่วนมากมีความตั้งใจดีขอให้ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะยศที่บ่าของท่านเป็นยศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้ครับ...

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น