xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.รับคำร้อง “มาร์ค” ขอถอนคำสั่งถอดยศ - ก๊วนแดงโผล่รุมฟ้อง กกต.-ศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เรืองไกร” ได้ทียื่น กกต.สอบคุณสมบัติ “มาร์ค” สิ้นสุดหรือไม่ แดงสุรินทร์ก็โผล่ร้องด้วย “วรัญชัย” ชงศาล รธน.วินิจฉัยถึงขั้นยุบประชาธิปัตย์ ด้านทนายความ “อภิสิทธิ์” เผยศาลปกครองรับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งถอดยศแล้ว ยันถูกกลั่นแกล้งสร้างการเมืองลวงประชาชน เชื่อนั่งผู้นำฝ่ายค้านได้

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า ต้องการให้ กกต.ตรวจสอบกรณี รมว.กลาโหมได้ลงนามคำสั่งปลดว่าที่ ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการ เนื่องจากเหตุทุจริตต่อหน้าที่เป็นผลให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยขอให้ กกต.ส่งคำร้องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้ นายเรืองไกรยังกล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์จะยื่นต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมดังกล่าวเนื่องจากเป็นคำสั่งไม่ชอบนั้น เห็นว่ามาตรา 9 วรรค 2 (1) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารไม่อยู่ในอำนาจพิจารณา รวมทั้งเคยมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรศาลที่ระบุว่า เรื่องลักษณะดังกล่าวเป็นอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม อีกทั้งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8211/2543 ซึ่งนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เคยเป็นองค์คณะอยู่ กรณีนายอับดลรอนี หลงหัน ฟ้องขอเป็นผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 1 สตูลเมื่อปี 2543 หลังจากถูกคำสั่งปลดออกจากราชการ ซึ่งศาลฎีกาในขณะนั้นมีคำพิพากษาว่า แม้ผู้เสียหายจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งปลดออก แต่หากศาลยังไม่มีคำพิพากษาเป็นอื่น ก็ถือว่าคำสั่งปลดออกนั้นมีผลบังคับทันที ซึ่งหากยึดตามแนวทางนี้ก็จะถือว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์สิ้นสุดลงแล้ว

นอกจากนี้ นายเทพพนม นามลี แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือแดงสุรินทร์ ก็ได้ยื่นขอให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติของนายอภิสิทธิ์เช่นเดียวกัน ขณะที่องค์การพิทักษ์ประชาธิปไตย นำโดยนายวรัญชัย โชคชนะ ก็ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์พร้อมทั้งสั่งถอดยศ เรียกคืนเบี้ยวหวัด เนื่องจากใช้เอกสารปลอมเข้ารับราชการทหาร ถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สิ้นสุดลง รวมถึงต้องถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่

ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ได้มอบหมายให้นายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายความ ยื่นฟ้อง รมว.กลาโหม (พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต) ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม โดยคำฟ้องระบุว่า การที่ รมว.กลาโหมมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ออกจากราชการมีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้นายอภิสิทธิ์พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. และเพื่อทำลายล้างพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ในทางการเมือง โดยยืนยันว่าการเข้ารับราชการทหารของนายอภิสิทธิ์เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์นั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร 2476 เพราะทหารที่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยหทาร คือ ทหารกองประจำการ และทหารประจำการ ส่วนทหารกองเกิน หรือทหารกองหนุน เช่นนายอภิสิทธิ์นั้น เป็นทหารที่ไม่ได้รับราชการทหาร และมิได้อยู่ประจำหน่วยทหาร จึงไม่อยู่ในบังคับของของ พ.ร.บ.ดังกล่าว การดำเนินการของ รมว.กลาโหม และคณะกรรมการของกระทรวงกลาโหม ก็มิได้เป็นไปตามขั้นตอน

นอกจากนี้ คำฟ้องยังระบุอีกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้เป็นแนวทางให้กระทรวงกลาโหมและทุกเหล่าทัพถือปฏิบัติแล้วว่ากระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจปลดนายทหารที่ออกจากประจำการไปแล้ว ซึ่ง รมว.กลาโหม เป็นผู้มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร 2476 จึงอยู่ในฐานะที่ต้องทราบและเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างดี อีกทั้งก็คงทราบดีว่ากรณีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ รมว.กลาโหมในรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะถอดถอนชั้นยศ และคืนเบี้ยหวัดจากนายอภิสิทธิ์ได้ แต่ รมว.กลาโหมกลับจงใจกลั่นแกล้งนายอภิสิทธิ์โดยใช้กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารมาเป็นข้ออ้างในการสั่งปลด ทั้งที่ทราบดีว่าไม่มีอำนาจออกคำสั่งเช่นนั้น

“การที่ รมว.กลาโหม มีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ในวันที่ 8 พ.ย. 55 ซึ่งเป็นวันที่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานพรรคฝ่ายค้านยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาขอให้ถอนถอน รมว.กลาโหม และรมต.บางคนออกจากตำแหน่ง และต่อมาในวันที่ 9 พ.ย.พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีบางคน รวมถึง รมว.กลาโหมด้วยต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีดังกล่าวจึงเป็นมูลเหตุจูงใจประการสำคัญที่ รมว.กลาโหม จงใจทำลายความน่าเชื่อถือของนายอภิสิทธิ์ และไม่ต้องการให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น โดยวางแผนเอาคำสั่งปลดเป็นข้อกล่าวอ้างว่า นายอภิสิทธิ์ ขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.แล้วไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้อีกต่อไป จากเหตุดังกล่าวคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์จึงเป็นคำสั่งที่เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ลุแก่อำนาจ มีโมหคติ กลั่นแกล้งนายอภิสิทธิ์เพื่อสร้างประเด็นทางการเมืองหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดว่านายอภิสิทธิ์รับราชการทหารโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อทำลายชื่อเสียงของนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ในทางการเมืองอย่างไร้คุณธรรม ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ดังกล่าว” นายบัณฑิตกล่าว

ทั้งนี้ ศาลปกครองได้รับคำฟ้องกล่าวไว้เป็นเลขคดีที่ 2900/55 โดยนายบัณฑิตให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การยื่นฟ้องศาลปกครองครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้นายอภิสิทธิ์สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในการอภิปรายฯ ที่จะมีขึ้นนี้ได้ เพราะหากประธานสภาฯ ไม่ให้ทำหน้าที่แล้วภายหลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่ง รมว.กลาโหม ใครจะรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามในการยื่นครั้งนี้ไม่ได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยให้ระงับคำสั่งปลดของ รมว.กลาโหมไว้ก่อน เพราะเพราะยังเห็นว่าไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นก็สามารถร้องเข้ามาในภายหลังได้อีก

ส่วนที่มีผู้มองว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องวินัยทหารไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง นายบัณฑิตกล่าวว่า ถ้าเป็นทหารประจำการจะไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองแต่นายอภิสิทธิ์เป็นทหารกองหนุนจึงเข้าข่ายที่ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยได้ และภายในสัปดาห์นี้ทีมทนายก็เตรียมที่จะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินคดีอาญาตามประมาลกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อ รมว.กลาโหม และคณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงกลาโหม


กำลังโหลดความคิดเห็น