xs
xsm
sm
md
lg

คุ้มไม่คุ้ม...ดูยังไง ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ในวันที่ผมขับรถคู่ใจกลับจากไปไหว้พระที่อยุธยาและกำลังคิดคำนวณถึงความคุ้มค่าถ้าหากผมจะเปลี่ยนรถคันใหม่ ทันใดนั้นเอง... ฝนก็ได้ตกลงมาอย่างหนักชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ย พร้อมกับได้ยินเสียงฟ้าฝ่าดัง เปรี้ยง ! ในระดับความดังที่พอจะทำให้ผมตกใจ แม้ว่าจะไม่เคยได้สาบานอะไรเอาไว้ก็ตาม... 
อารมณ์นี้... คงคล้ายกับอารมณ์ของท่านปลัดและรองปลัดกระทรวงกลาโหมที่ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งย้ายฟ้าฝ่าให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแบบไม่ทันตั้งตัว อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในเรื่องของการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ที่ท่านปลัดฯ เห็นว่าดำเนินการไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล พ.ศ. 2551

งานนี้ปลัดกระทรวงกลาโหม (พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์) และรองปลัดฯ (พลเอก ชาตรี ทัตติ) จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งย้ายดังกล่าว พร้อมทั้งได้มีคำร้องขอให้ศาลทุเลาหรือระงับการบังคับตามคำสั่งที่พิพาทไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินในคดี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งย้ายรองปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ทุเลาการบังคับตามคำสั่งย้ายปลัดกระทรวงกลาโหม

เหตุใด... การย้ายกรณีเดียวกันเช่นนี้ ศาลจึงมีคำสั่งในเรื่องวิธีการคุ้มครองชั่วคราวที่แตกต่างกัน ศาลท่านมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไรบ้าง วันนี้ผมจะขอนำข้อกฎหมายและเหตุผลในคำสั่งของศาลปกครองกลางมาพูดคุยกันครับ...

โดยเกณฑ์ที่ศาลใช้ในการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้องขอหรือไม่นั้น คือ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ซึ่งได้กำหนดองค์ประกอบในการที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไว้ดังนี้ 1. เมื่อเห็นว่ากฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2. การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง และ 3. การสั่งให้ทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ

ซึ่งในการยื่นคำขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษานี้ ผู้ฟ้องคดีสามารถขอมาในคำฟ้องหรืออาจยื่นคำขอมาในเวลาใดๆ ก่อนที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดในคดีก็ได้ และการที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองตามที่ขอได้นั้น จะต้องเข้าเงื่อนไขครบทั้ง 3 องค์ประกอบดังกล่าว หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไป ศาลก็ไม่อาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ได้ครับ

เรามาดูกรณีการขอคุ้มครองชั่วคราวของปลัดกระทรวงกลาโหม (พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์) กันก่อนว่าจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยองค์ประกอบแรกที่ศาลพิจารณาคือ คำสั่งดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? ซึ่งกรณีคำสั่งย้ายปลัดกระทรวงกลาโหมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ระบุเหตุผลในการสั่งย้ายว่า เพื่อเป็นการระงับยับยั้งโดยพลัน มิให้มีการเผยแพร่ความลับของทางราชการ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลในปีนี้ และเพื่อป้องกันมิได้การแตกความสามัคคีในคณะทหารขยายออกไป ซึ่งจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

ศาลเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการ (สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) และเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารดังกล่าว แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงยังถือว่าเป็นความลับของทางราชการ ไม่สามารถนำไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกได้

ดังนั้น การที่มีหนังสือพิมพ์ลงตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมและได้เดินทางไปพบองคมนตรี ซึ่งถ้าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ผู้ฟ้องคดีก็ต้องรีบดำเนินการแก้ข่าว แต่ผู้ฟ้องคดีกลับไม่ได้ดำเนินการแต่ประการใด ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้ยอมรับในคำชี้แจงที่ยื่นต่อศาลในชั้นไต่สวนว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเข้าพบและชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่การพิจารณาแต่งตั้งดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ

ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่า ผู้ฟ้องคดีได้นำความลับของทางราชการไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกจึงน่าเชื่อถือ ประกอบกับคำสั่งย้ายให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมด้วยเหตุผลเพื่อยับยั้งมิให้มีการเผยแพร่ความลับของทางราชการและเพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในขณะนี้ยังฟังไม่ได้ว่าคำสั่งดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ ศาลปกครองกลางจึงยกคำขอของผู้ฟ้องคดี

จะเห็นได้ว่ากรณีนี้ ไม่เข้าองค์ประกอบแรกที่ว่าคำสั่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ อีก จึงมีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีได้เลยครับ

แต่ในส่วนกรณีของรองปลัดกระทรวงกลาโหม (พลเอก ชาตรี ทัตติ) นั้น ศาลเห็นว่าเข้าเงื่อนไขครบทั้ง 3 องค์ประกอบ กล่าวคือ ข้อกล่าวอ้างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในการมีคำสั่งย้ายที่ว่า ผู้ฟ้องคดีมีส่วนร่วมรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการนำความลับของทางราชการไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอก เนื่องจากมิได้ยับยั้งกรณีที่ปลัดกระทรวงกลาโหมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและเข้าพบองคมนตรีเกี่ยวกับปัญหาการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลดังกล่าว ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่ปลัดกระทรวงกลาโหมกำหนดหรือมอบหมาย และการสั่งให้ข้าราชการไปช่วยราชการในหน้าที่อื่นซึ่งมิใช่หน้าที่ตามปกติ จะต้องมีเหตุผลเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หรือเป็นกรณีที่หากให้ข้าราชการผู้นั้นดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการได้ ซึ่งในกรณีของผู้ฟ้องคดีนั้นยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งการให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยราชการก็มิได้ระบุระยะเวลาสิ้นสุดว่าจะให้กลับมาปฏิบัติราชการในตำแหน่งของตนเมื่อใด ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของการปฏิบัติราชการ อันขัดต่อหลักความมั่นคงในอาชีพตามระบบคุณธรรม

ดังนั้น คำสั่งย้ายให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อีกทั้งการให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหมดังเดิม ก็ไม่ทำให้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมหรือสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี

คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษานี้ หากศาลยกคำร้องของผู้ขอ กฎหมายให้ถือว่าเป็นที่สุด ดังนั้นกรณีของท่านปลัดฯ จึงต้องไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นที่แน่นอน ส่วนในกรณีของรองปลัดฯ นั้น ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาลแล้ว ก็คงต้องรอลุ้นฟังผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดกันอีกทีครับ…

แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำก็คือ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้ แม้จะมีประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบของคำสั่งตามองค์ประกอบแรกที่ว่า “คำสั่งที่พิพาทนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการพิจารณาในเบื้องต้นเท่านั้น ยังมิได้ลงลึกถึงรายละเอียดในเนื้อหาของคดีแต่อย่างใด ฉะนั้นการที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ จึงมิได้มีความหมายเป็นนัยว่าผู้ฟ้องคดีจะต้องชนะคดี หรือการที่ศาลยกคำร้องขอของผู้ฟ้องคดีก็มิได้หมายความว่าผู้ฟ้องคดีจะต้องแพ้คดีนะครับ เพราะคำพิพากษาและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้เป็นคนละส่วนกัน...

แต่ในขณะนี้...สิ่งที่ผมอยากจะขอคุ้มครองฉุกเฉินก็คือ... ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองพี่กรุง... อย่าให้น้องน้ำหวนกลับมาเยือนอีกเลย เพราะผมเหนื่อยกับการตามหาน้องทรายแล้วคร๊าบ...

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น