“คมนาคม” เปิดแผนปี 67-68 ขับเคลื่อน 150 โครงการวงเงินรวม 6.52 แสนล้านบาท ดัน 64 โครงการเปิดบริการปี 67 เปิดไซต์ก่อสร้าง 31 โครงการ วงเงิน 3.89 แสนล้านบาท ผุดถนน-มอเตอร์เวย์ จัดหารถโดยสาร EV ส่วนปี 68 ลุยอีก 57 โครงการ กว่า 2.6 แสนล้าน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 และปี 2568 โดยมีเป้าหมายผลักดันโครงการ Quick Win จำนวน 72 โครงการสำคัญ และการจัดทำแผนงาน/โครงการเพิ่มเติม เพื่อสอดรับกรอบนโยบายของรัฐบาล นโยบายของนายกรัฐมนตรี และนโยบายที่ตนและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบให้กระทรวงคมนาคมรับไปเป็นกรอบในการดำเนินงาน ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านคุณภาพชีวิต และด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับภาพรวมการลงทุนด้านคมนาคมในปี 2567-2568 นั้นมีจำนวนโครงการรวมทั้งสิ้น 150 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2567 จำนวน 64 โครงการ และโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างอีกจำนวน 31 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2568 มีโครงการใหม่อีกจำนวน 57 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวของปี 2568 นั้นมีโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าลงทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 13 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 254,183 ล้านบาท
โดยแยกเป็นมิติการพัฒนาการขนส่งทางถนน โดยจะเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์และทางพิเศษ เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเชื่อมโยงโครงข่ายสู่เมืองหลักในภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มเศรษฐกิจฐานราก โดยการพัฒนาโครงข่ายถนนสายรองและสะพานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ชุมชน รองรับสินค้าเกษตรกรรม และสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย
ทั้งนี้ โครงการที่คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2567 จำนวน 18 โครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี, มอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา / สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ
@ผุดโครงการใหม่ "ถนน-มอเตอร์เวย์" ปี 67 รวม 13 โครงการ วงเงิน 2.54 แสนล้าน
สำหรับโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 13 โครงการ มีมูลค่าลงทุน 254,183 ล้านบาท ได้แก่ มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง-บางปะอิน วงเงิน 15,260 ล้านบาท, M9 ด้านตะวันตก ตอนบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท, มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยาย M7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 4,508 ล้านบาท, มอเตอร์เวย์ M5 ต่อขยายอุตราภิมุข รังสิต-บางปะอิน วงเงิน 31,358 ล้านบาท
ทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) วงเงิน 24,060 ล้านบาท, ทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ตอนกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 16,494 ล้านบาท, ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 (ประเสริฐมนูกิจ-วงแหวนรอบนอกฯ ตะวันออก) วงเงิน 13,300 ล้านบาท, Service Center ศรีราชา วงเงิน 1,010 ล้านบาท, Service Area บางละมุง วงเงิน 850 ล้านบาท
ที่พักริมทางทางด่วนบางโปรง วงเงิน 628 ล้านบาท, ที่พักริมทาง มธ.รังสิต วงเงิน 707 ล้านบาท, ขยาย ทล.4027 ช่วงบ.พารา-บ.เมืองใหม่ จ.ภูเก็ต, ทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่-สนามบินภูเก็ต 2,600 ล้านบาท
ส่วนปี 2568 มีโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 24 โครงการ เช่น ก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อม M6-ทล.32 / ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก แห่งที่ 2 ที่ อ.สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง จ.นราธิวาส / โครงการพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทล.121) เป็นต้น
@ปี 67 ดันแผนจัดหารถโดยสาร EV ขสมก.ส่วน บขส.จัดหา 75 คัน
มิติการพัฒนาการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้า รวมทั้งการกำกับดูแลและยกระดับการให้บริการ และการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ และมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่
โดยมีโครงการที่จะเปิดให้บริการปี 2567 จำนวน 11 โครงการ เช่น การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ของ ขบ. จำนวน 29 เส้นทาง และของ บขส. จำนวน 21 เส้นทาง
โครงการใหม่ที่จะเริ่มในปี 2567 จำนวน 8 โครงการ เช่น การผลักดันรถโดยสารพลังงานสะอาด ของ ขบ. ขสมก. และ บขส. / และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 7 โครงการ เช่น โครงการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ของ บขส. จำนวน 75 คัน เป็นต้น
@ เร่งรถไฟทางคู่เฟส 2
สำหรับมิติการพัฒนาการขนส่งทางราง นายสุริยะกล่าวว่า ได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ และโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2, รถไฟความเร็วสูง และโครงข่ายการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บริการได้ตรงเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน รวมทั้งผลักดันการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล มีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2567 จำนวน 9 โครงการ เช่น รถไฟทางคู่ ช่วง นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร รวมถึงเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การขนส่งทางรางให้สามารถประกาศใช้ได้ในปี 2567
@ สายสีแดง เพิ่มเติมข้อมูล พร้อมชง ครม.ภายใน 1 เดือน
ส่วนโครงการใหม่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 6 โครงการ เช่น รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท, สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 4,616 ล้านบาท
โครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 10 โครงการ เช่น การจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพื่อรองรับรถไฟทางคู่, การศึกษาจัดทำมาตรฐานเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่ง, การจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง เป็นต้น
มิติการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ เน้นย้ำให้ขยายขีดความสามารถการขนส่งทางน้ำ เปิดประตูการค้าทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ เร่งการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือในภูมิภาค รวมทั้งการปรับปรุงท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) เช่น โครงการที่จะเปิดให้บริการปี 2567 จำนวน 8 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) จำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือพระราม 5
โครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมโยงกระบี่-พังงา-ภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) ได้แก่ ท่าเรือมาเนาะห์ และท่าเรือช่องหลาด จ.พังงา และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 8 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน เพิ่มอีกจำนวน 2 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าเลน จ.กระบี่ และท่าเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต, พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) เพิ่มอีกจำนวน 15 ท่า เป็นต้น
สำหรับมิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ นายสุริยะกล่าวว่า จะเร่งรัดการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศ ให้รองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น และขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค หรือ Aviation Hub ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน เช่น โครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 18 โครงการ เช่น ทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง, อาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ท่าอากาศยานกระบี่
เริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ เช่น ก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศตะวันออก วงเงิน 9,000 ล้านบาท และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 8 โครงการ เช่น ก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ท่าอากาศยานชุมพร, ซ่อมบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นต้น