รัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" มีนโยบายเร่งการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งสนามบิน ระบบราง ถนน มอเตอร์เวย์ และท่าเรือ หวังอัดฉีดการลงทุนภาครัฐที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงประกาศเร่งแผนขับเคลื่อนผลักดันโครงการลงทุนตามนโยบาย Quick win ทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ซึ่งมีจำนวนถึง 72 โครงการ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้เงินกู้ และโครงการที่ร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนของกระทรวงคมนาคมอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาจัดลำดับความสำคัญและวางแผนการทำงาน วางไทม์ไลน์ให้ชัดเจน โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามฯ ที่ รมว.คมนาคมเป็นประธาน มี รมช.คมนาคม คือ นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรองประธาน และมีเลขานุการ รมว.คมนาคม โฆษกกระทรวงฯ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ และหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ เพื่อติดตามเร่งรัดตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานและไทม์ไลน์
“ในการดำเนินทุกโครงการมักจะมีอุปสรรคปัญหา ดังนั้นจึงต้องโฟกัสติดตามแต่ละโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติและก่อสร้างได้แล้วเสร็จจริงตามกรอบเวลาที่วางไว้ คณะกรรมการฯ จะมอนิเตอร์ทุกขั้นตอนตั้งแต่โครงการที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ, เตรียมเสนอของบประมาณ, เตรียมเสนอ ครม., กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ขออนุมัติเซ็นสัญญา จนเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง ที่จะมีปัญหาอุปสรรคอีกมากมาย” นายสุริยะกล่าว
ทั้งนี้ วันที่ 20-21 ธ.ค. 2566 กระทรวงคมนาคมจะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน (เวิร์กชอป) จะสรุปว่ามีโครงการใดที่แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้แล้ว และมีโครงการใดบ้างที่จะดำเนินการในปี 67-68
สำหรับ 72 โครงการด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งประเมินว่ามีวงเงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ
1. โครงการที่มีความสำคัญเชิงพื้นที่จำนวน 13 โครงการ
2. ด้านคมนาคมขนส่งทางบกจำนวน 29 โครงการ
3. ด้านคมนาคมขนส่งทางราง จำนวน 22 โครงการ
4. ด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ จำนวน 4 โครงการ
5. ด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำจำนวน 4 โครงการ
@ปี 67 เปิดบริการ 9 โครงการ "ทางคู่-มอเตอร์เวย์-รันเวย์ 3"
โครงการลงทุนไปแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2567 จำนวน 9 โครงการได้แก่ 1. รถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. วงเงิน 15,728 ล้านบาท 2. รถไฟทางคู่สายใต้ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 12,457 ล้านบาท 3. รันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 9,700 ล้านบาท 4. ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ระยะที่ 1
5. มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) วงเงิน 67,652 ล้านบาท (ทดลองเปิดให้บริการ) เปิดเต็มรูปแบบปี 2568 6. ท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) จำนวน 5 แห่ง 7. สนามบินกระบี่ เปิดอาคารผู้โดยสารรองรับ จาก 4 ล้านคน/ปี เป็น 8 ล้านคน/ปี วงเงิน 4,700 ล้านบาท 9. รถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน18,699 ล้านบาท
และเปิดให้บริการในปี 2568 จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1. รถไฟทางคู่ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 16,850 ล้านบาท 2. ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม 3. ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย 4. มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ระยะทาง 24.7 กม. วงเงิน 31,700 ล้านบาท 5. ทางด่วนสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 30,437 ล้านบาท 6. มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท
@อัดลงทุนปี 67-68 ต่อเนื่อง 23 โปรเจกต์กว่า 6.79 แสนล้านบาท จ่อคิวเซ็นสัญญา
สำหรับแผนปี 2567 คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเปิดประมูลและเริ่มการก่อสร้างจำนวน 14 โครงการ ได้แก่ 1. รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ครม.อนุมัติแล้ว คาดเปิดประมูลเดือนเม.ย. 2. รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (PPP) ก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และงานระบบ ตลอดสาย วงเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. 67
3. ขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา-บ.เมืองใหม่ ค่าก่อสร้าง 510 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 67, 4. Service Center ศรีราชา มอเตอร์เวย์ (M7) ช่วงชลบุรี-พัทยา วงเงิน 1,615 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 67, 5. Service Area บางละมุงมอเตอร์เวย์ (M7) ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 766 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 67
6. มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) ระยะทาง 1.92 กม. วงเงิน 4,508 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย. 67, 7. ทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 วงเงินกว่า 2,380 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย. 67
8. รถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, 9. รถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท, 10. รถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,694.36 ล้านบาทเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย. 67
11. รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307.6 กม. วงเงิน 37,527 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย. 67, 12. ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 16,190 ล้านบาท ก่อสร้างเดือน ก.ย. 67, 13. ทางด่วนสายจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 24,060 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ต.ค. 67 และ 14. รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 310,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค. 67
และโครงการที่จะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2568 มีจำนวน 9 โครงการ ได้แก่ 1. ท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) จำนวน 15 แห่ง วงเงิน 305.30 ล้านบาท ซึ่งจะครบตามแผนที่จะพัฒนาท่าเรือทั้งสิ้น 29 แห่ง 2. โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต ระยะทาง 1.95 กม. วงเงิน 1,067.78 ล้านบาท
3. Rest Area มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) จำนวน 15 แห่ง วงเงิน 3,270 ล้านบาท 4. Rest Area มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) จำนวน 6 แห่ง วงเงิน 2,355 ล้านบาท
5. ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N2) ถนนประเสริฐมนูกิจ-วงแหวนตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. วงเงิน 16,960 ล้านบาท 6. สะพานเกาะลันตา ระยะทาง 2.2 กม. วงเงิน 1,800 ล้านบาท 7. สะพานทะเลสาบสงขลา ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 4,700 ล้านบาท
8. มอเตอร์เวย์สายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน (M9) ระยะทาง 36 กม. วงเงิน 23,025 ล้านบาท 9. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงิน 37,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและกำกับดูแลการให้บริการที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานความปลอดภัย โดยจะเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ และ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ โดยมีเป้าหมายนำเสนอสภาพิจารณาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ธ.ค. 67
ใน 72 โครงการ มีหลายโครงการที่ตกค้าง ล่าช้ามานาน เช่น การจัดหารถโดยสารของ บขส.และ ขสมก.ที่เป็นบริการสาธารณะ ซึ่งประชาชนรอคอยมานานมากแต่ถูกรื้อมาหลายรอบ จนเอกชนกินรวบเส้นทางสัมปทานตามแผนปฏิรูปรถเมล์ไปกว่าครึ่งแล้ว รวมไปถึงเผือกร้อน อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะฝ่ามรสุมได้เซ็นสัญญาเริ่มก่อสร้างในปี 67 หรือไม่!!!