“สุริยะ”โชว์ผลงาน”99 วัน 9 เรื่องเด่น“ชูโบว์แดงนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท นำร่อง สีแดง-สีม่วง ใช้ได้ทุกสายใน 2 ปี เร่งดันพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ เดินหน้าตั้งกองทุนฯ เล็งขึ้นราคาน้ำมันในเขตกทม.-ปริมณฑล ระดม 7-8 พันล้านบาทชดเชยรายได้สัมปทาน ปลื้มเปิดสนามเชียงใหม่ 24 ชม.เพิ่มผู้โดยสาร 30%
วันที่ 20 ธ.ค. 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันแถลงผลงาน 99 วัน 9 โครงการสำคัญเร่งด่วน พร้อมขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ของกระทรวงคมนาคม ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ รวมถึงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ตามนโยบาย Quick win เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการและเดินทางด้วยความปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้นำนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา มอบให้ทุกหน่วยงานนำไปดำเนินการ ซึ่งนับจากวันที่ 14 ก.ย. 1566 จนถึงปัจุบัน ตนและรัฐมนตรีช่วยฯ ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 99 วัน มี 9 โครงการเด่น ที่ดำเนินการผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม คือ 1. มาตรการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา นำร่อง 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน และต่อมาได้ขยายใช้ในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสายสีแดงและสายสีม่วงได้ด้วย ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนและจูงใจให้เปลี่ยนมาใช้ระบบรางในการเดินทาง
@ลุยรถไฟฟ้า20 บาททุกสาย ดันพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ เล็งขึ้นราคาน้ำมันเขตกทม.ชดเชยรายได้สัมปทาน
ทั้งนี้จะเร่งขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาท ในรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ภายใน 2 ปี โดยขณะนี้ กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเมินทั้งโครงข่ายทุกสาย กรณีลดค่าโดยสารเหลือไม่เกิน 20 บาท รายได้ของผู้ให้บริการจะลดลง ซึ่งจะต้องมีเงินอุดหนุนประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท/ปี
ในการดำเนินงาน จะเร่งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ในสมัยแรกนี้ และหลังพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯมีผลบังคับใช้ จะสามารถจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่จะระดมเงินรายได้เข้ากองทุนฯต่อไป โดยกำลังศึกษาแนวทาง ซึ่งมีหลายแนวคิด เช่น ใช้กลไกลราคาน้ำมัน โดยปัจจุบัน การปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันจะเป็นไปตามราคาตลาดโลก มองว่าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล หากจัดเก็บราคาน้ำมันเพิ่มอีก 50 สต./ลิตร เพื่อนำรายได้ส่วนนี้เข้ากองทุนฯ การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะจูงใจให้ประชาขนหันมาเดินทางด้วยขนส่งสาธารรณะ ลดค่าใช้จ่ายและลดมลพิษทางอากาศ ขณะที่ปัจจุบันมีรถยนต์ ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลประมาณ 1 ล้านคัน
“นโยบายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท นำร่อง 2 สาย ถือเป็นนโยบายที่นำมาปฎิบัติได้จริงและรวดเร็ว ประชาชนตอบรับ ส่วนจะเร่งผลักดันให้ใช้ได้ทุกสายนั้น ไม่ได้จะเป็นการบังคับเอกชนผู้ให้บริการ เพราะมีเงื่อนไขสัญญาสัมปทานกำหนดไว้ ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องหาแนวทางอุดหนุนรายได้ที่จะหายไป
@ปลื้มเปิดสนามเชียงใหม่เปิด24 ชม.เพิ่มผู้โดยสาร 30%
2. การเปิดใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินในปัจจุบัน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารของสนามบินเชียงใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศเฉลี่ย 4,800 คน/ วัน จำนวน 20 เส้นทาง ปริมาณเที่ยวบิน 36 เที่ยวบิน/วัน
3. เปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบิน/ชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง รองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายวีซ่าฟรี ตามนโยบายรัฐบาล
@เปิดมอเตอร์เวย์ 2 สาย วิ่งฟรีหลังปีใหม่ต่อเนื่อง
4. เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) รวมถึงการเปิดให้ใช้ฟรี 2 เส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 โดย M6 ช่วงปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กม. M81 ช่วงนครปฐม ฝั่งตะวันตก – กาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. เปิดทดลองใช้ฟรีปีใหม่ ตั้งแต่ 28 ธ.ค.66 ต่อเนื่องจนกว่าด่านเก็บค่าผ่านทางจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง
ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เส้นทางนครปฐม - ชุมพร และได้เปิดให้บริการช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เดินทางเร็วขึ้นถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที
5. การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ เป็นสถานีเรือ (ระบบปิด) ทั้งหมด 29 ท่า ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเสร็จแล้ว จำนวน 9 ท่า อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้าง จำนวน 5 ท่า และในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 15 ท่า จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องต่อไป 6. เดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge) ผลักดันการพัฒนาท่าเรือชุมพรและระนอง รวมถึงรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมขนส่งระหว่าง 2 ท่าเรือ ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อพลิกโฉมพื้นที่ภาคใต้เป็นศูนย์กล่างโลจิสติกส์ระดับโลก ซึ่งได้โรดโชว์ ที่สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น นักลงทุนสนใจเป็นจำนวนมาก โดยทางธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ขณะนี้ทางสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาขับเคลื่อนโครงการ เช่นเดียวกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แล้ว”
7. การปรับเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยร่วมกับก.พลังงานในการขับเคลื่อนการปรับปรุงรถสาธารณะทุกชนิดให้เป็น EV และให้ทุกหน่วยงานคมนาคม เปลี่ยนรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าเป็นรถยนต์ EV ทั้งหมด 8. โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาทาาอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2572, โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วง บ.พารา - บ. เมืองใหม่, โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง, การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 จ.พังงา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานฯ - ห้าแยกฉลอง) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2574 และ9. การปราบส่วยทางหลวง แก้ปัญหาการทุจริต