xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ”ปักแผนลงทุนโปรเจ็กต์คมนาคม 72 โครงการสั่งเร่งมอเตอร์เวย์'นครปฐม-ชะอำ'และ'บ้านแพ้ว-ปากท่อ'แก้รถติดถึงวังมะนาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ”ปักแผนลงทุนโปรเจ็กต์คมนาคม 72 โครงการ วางไทม์ไลน์ ตั้งคณะทำงาน ติดตามเร่งรัดทุกเดือน สั่งกรมทางหลวง ขยับมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ และยกระดับ บ้านแพ้ว-ปากท่อ ทำก่อนเร่งทะลวงคอขวดแก้จราจรลงใต้ ทั้งถ. พระราม2 และเพชรเกษมถึงวังมะนาว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายว่า กระทรวงคมนาคม ได้รวบรวมโครงการที่อยู่ในแผนงานการพัฒนาเพื่อผลักดันให้เป็นไปตามนโยบาย Quick win ทุกมิติ ทั้งทางด้านการขนส่งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ซึ่งมีจำนวน 72 โครงการ ซึ่งให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแผนการดำเนินงาน กรอบเวลา(ไทม์ไลน์) เริ่มต้นและแล้วเสร็จ โดยกระทรวงฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามฯ มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและมี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คือ นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรองประธาน และมีเลขานุการฯรมว.คมนาคม โฆษกกระทรวงฯ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ และหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ เพื่อติดตามเร่งรัดตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานและไทม์ไลน์ ซึ่งจะติดตามงานทุกเดือน

โดยในวันที่ 20-21 ธ.ค. 2566 กระทรวงคมนาคม จะมีการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม ปี 2567-2568 เพื่อลงรายละเอียดแผนงานของโครงการต่างๆ ให้ชัดเจน โดยย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญให้สำเร็จตามแผน ซึ่งจะติดตามตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งใน 72โครงการมีทั้งโครงการที่ใช้งบประมาณ และโครงการที่ร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) สำหรับ 72 โครงการประกอบด้วย โครงการด้านคมนาคมขนส่งที่มีความสำคัญเชิงพื้นที่ 13 โครงการ ด้านทางบก 29 โครงการ ทางราง 22 โครงการ ทางอากาศ 4 โครงการ ทางน้ำ 4 โครงการ

โดยกลุ่มเชิงพื้นที่ 13 โครงการ เช่น สนามบินกระบี่ ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร จาก 4 ล้านคน/ปี เป็น 8 ล้านคน/ปี จะเสร็จปลายปี 2567 ,โครงการขยายช่องทางจราจรทางหลวง 4027 ช่วงบ.พารา-บ.เมืองใหม่ เสนองบปี 2567 กำหนดเสร็จปี 2570 ,ขยายสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 รองรับจาก 12.5 ล้านคน/ปี เป็น 18 ล้านคน/ปี , การก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานพังงา) และการสร้างทางพิเศษ สายกระทู้ – ป่าตอง ส่วนโครงการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ และพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่

โครงการทางบก เช่น โครงการ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) , สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา (M7) การจัดหารถ EV ของ บขส. และ ขสมก. และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 หรือโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) (Double Deck)


@สั่งเร่ง ต่อขยาย ทางยกระดับ”บ้านแพ้ว – ปากท่อ” และมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ แก้ปัญหาจราจรลงภาคใต้

นายสุริยะกล่าวว่า โครงการสำคัญที่ให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัด คือ โครงการทางยกระดับ “บ้านแพ้ว – ปากท่อ” ซึ่งเป็นส่วนต่อจากทางยกระดับ “บางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว“ที่ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง เพื่อให้ขยายเส้นทางไปถึงวังมะนาว ให้แล้วเสร็จในปี 2574 ทำให้การเดินทางต่อเชื่อมสมบูรณ์ และเร่งรัดมอเตอร์เวย์ สาย นครปฐม-ปากท่อ (M8) ให้แล้วเสร็จในปี 2575 เพื่อแก้ปัญหาจราจรบนถนนเพชรเกษม ซึ่งกรมทางหลวงรายงานว่า ช่วง ปากท่อ-ชะอำ มีประชาชนในพื้นที่เป็นห่วงเรื่องเวนคืน จึงให้ไปเจรจากับประชาชน เพราะจะเป็นเส้นทางแนวใหม่ ที่รองรับปริมาณรถลงสู่ภาคใต้ และช่วยลดภาระของถนนพระราม 2 และมอเตอร์เวย์ 82 (ทางยกระดับพระราม 2) และโครงข่ายยังต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) อีกด้วย

นอกจากนี้ ในเทศกาลปีใหม่ 2567 จะเปิดใช้บริการฟรี มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ช่วง วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป

สำหรับ โครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางราง เช่น โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โครงการตั๋วร่วม Feeder เข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางทั้งนี้ การศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง (Feeder) เพื่อรองรับการเดินทางเข้าสู่สถานีขนส่งโดยสาร สถานีรถไฟฟ้ากับพื้นที่โดยรอบหรือระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น และได้รับความสะดวก โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ศึกษาระบบ Feeder จำนวน 26 เส้นทาง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง – สีแดง (เพิ่มเติม) ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ โดย ผลการหารือ แบ่งเป็น

กรณีที่ 1 - เส้นทางที่มีการตัดระยะทางบริการให้สั้นลง และเส้นทางที่ ขบ. ได้ปรับเส้นทางแล้ว (3 เดือน) กรณีที่ 2 - เส้นทางที่มีการต่อแนวการให้บริการในจุดการเดินทางที่สำคัญ ไม่มีความซับซ้อนในการดำเนินการ (6 เดือน) กรณีที่ 3 – เส้นทางที่จำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดของการด าเนินงาน เช่น ความคุ้มค่าทางการเงินต่างทับซ้อนกับเส้นทางที่มีผู้ให้บริการเดิมหลายราย (23 เดือน) กรณีที่ 4 - เส้นทาง Feeder 26 เส้นทาง ที่รองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง (9 - 29 เดือนแล้วแต่กรณี)

ทั้งนี้ สนข. และ ขบ. จะสำรวจเส้นทางร่วมกัน คาดว่า ประมาณอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 2566 และภายหลังประมวลเส้นทางชัดเจนแล้ว ขบ. จะพิจารณานำไปประกาศฯ เพื่อเสนอเป็นเส้นทางสำหรับการให้บริการต่อไป

ส่วนทางอากาศ เช่น การเตรียมความพร้อมการกลับเข้า FAA CAT I การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานดอนเมือง การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และการเตรียมความพร้อมการตรวจของ ICAO
และ โครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำ เช่น การพัฒนา Smart Pier ในแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมบัง ระยะที่ 3 และการศึกษาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal)


นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า นโยบายรมว.คมนาคมในการเร่งผลักดันโครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ“ (M82) สิ้นสุดที่วังมะนาว ระยะทาง 47 กม. วงเงินลงทุน 53,219 ล้านบาท (ค่าก่อสร้างงานโยธา 52,913 ล้านบาท ค่าเวนคืน 306 ล้านบาท) สถานะโครงการ การศึกษาความเหมาะสม (FS) ออกแบบรายละเอียด และรายงานEIA เสร็จแล้ว เตรียมเสนองบประมาณปี 2567 เพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม คาดประมูลปี 2569 ก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2572

ส่วนมอเตอร์เวย์ สาย นครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุนรวม 71,995.20 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ (M8) ระยะทาง 61 กม. วงเงินลงทุน 43,227.16 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783.29 ล้านบาท ค่าเวนคืน 12,287.87 ล้านบาท จะดำเนินการก่อน เนื่องจากไม่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่ โดยมีแผนก่อสร้างในปี 2569-2572 ใช้รูปแบบ PPP Gross-Cost รัฐลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนงานระบบ O&M โดยรัฐเป็นเจ้าของรายได้ โดยจะนำเสนอครม.ในปี 2567 ก่อสร้างปี 2569 - 2573 

ช่วงปากท่อ-ชะอำ ระยะทาง 48 กม. วงเงินลงทุน 28,768.04 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 24,017.08 ล้านบาท ค่างานระบบ 943.19 ล้านบาท ค่าเวนคืน 3,807.77 ล้านบาท แผน

ดำเนินการก่อสร้าง ปี 2576-2580




กำลังโหลดความคิดเห็น