xs
xsm
sm
md
lg

จ้างงานใหม่ปี 67 ยังเปราะบางตาม ศก. ลุ้นปรับค่าแรงขั้นต่ำตามกลไกไตรภาคี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างฯ เผยแนวโน้มตลาดแรงงานไทยปี 2567 ยังเปราะบางตามทิศทาง ศก.ที่ฟื้นตัวช้าตามทิศทาง ศก.โลก ทำให้การจ้างงานใหม่ยังคงกระจุกตัวกับภาคท่องเที่ยวบริการ อาหาร พลังงาน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ เตรียมลุ้นเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่หวังเป็นไปตามกลไกไตรภาคีอย่างเหมาะสมไม่มีการแทรกแซงจากรัฐจนทำให้ค่าแรงขึ้นเกินความเป็นจริง ชี้ 5-6% พอรับไหว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
เปิดเผยว่า แนวโน้มการจ้างงานใหม่ในปี 2567 ยังคงมีความเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้าตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยการจ้างงานเพิ่มยังคงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดแรงงานไทยยังเผชิญกับการขาดแรงงานทักษะฝีมือ รวมไปถึงแรงงานระดับล่างที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว

“การจ้างงานภาพรวมจะสัมพันธ์กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งแน่นอนว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ดีขึ้นจากปี 2566 ที่คาดว่าจะโตเพียง 2-2.5% แต่มีความเปราะบางสูงทำให้การฟื้นตัวยังช้าอยู่เพราะต้องเผชิญทั้งปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกโตต่ำและภายในที่หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้การส่งออกปีนี้ 2566 จะติดลบราว 1% แม้ปี 67 จะฟื้นตัวแต่ก็คงจะไม่ได้มากนักทำให้ตลาดแรงงานของไทยภาพรวมทรงตัวและการจ้างงานเพิ่มก็จะเป็นไปตามแต่ละสาขาธุรกิจและการขยายการลงทุนของเอกชน” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณ 6 ล้านคนเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 64% สะท้อนให้เห็นว่าการผลิตสินค้ายังคงชะลอตัวเนื่องจากภาคการผลิตของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคส่งออกซึ่งต้องอาศัยการเติบโตจากเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกชะลอตัวกระทบต่อสต๊อกสินค้าที่ลดต่ำตามคำสั่งซื้อที่มีจำนวนไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 แรงงานจะได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างหรือบอร์ดไตรภาคีจะนัดประชุมกันในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 นี้ เพื่อหาข้อสรุปเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานทั้ง 77 จังหวัดรอบใหม่เพื่อจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าและให้มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 67 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นมีความจำเป็นเพื่อให้สะท้อนกับภาวะเงินเฟ้อและปัจจัยต่างๆ อย่างเหมาะสมซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านหากแต่ขอให้ยึดการพิจารณาตามกลไกไตรภาคีเป็นสำคัญ

“นายจ้างส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเห็นด้วยที่ต้องขึ้นค่าแรงแต่คงไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายที่จะปรับขึ้นเป็น 400 บาท/วันเพราะเป็นอัตราที่สูงเกินไปและถือเป็นการแทรกแซง ซึ่งล่าสุดมีการหารือกันและจะปรับให้อิงตามอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 แต่ฝ่ายลูกจ้างเองก็ยังไม่เห็นด้วยจึงต้องมาสรุปซึ่งส่วนตัวเองผมรับได้หากจะปรับขึ้น 5-6% เหมือนกับการปรับขึ้นในครั้งที่ผ่านมาและแต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่ากัน แต่คงไม่สามารถตอบแทนผู้ประกอบการคนอื่นได้โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะได้รับผลกระทบมากไม่ว่าจะขึ้นเท่าใดก็ตาม” นายธนิตกล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหากยึดตามกลไกการพิจารณาไตรภาคีโดยไม่แทรกแซงก็คงยอมรับได้เพราะหากมีการแทรกแซงทำให้ค่าจ้างปรับขึ้นเกินความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ย่อมกระทบต่อนายจ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และท้ายสุดต้นทุนเหล่านี้จะย้อนกลับมาสู่ราคาสินค้าซึ่งก็จะกลับมากระทบต่อแรงงานอยู่ดี

“เวลานี้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง แรงซื้ออ่อนกำลังจากหนี้ครัวเรือนสูง เอกชนก็เผชิญกับยอดขายและส่งออกที่ชะลอตัว ดังนั้นต้องมองทั้ง 2 ฟากให้สมดุลอยู่ได้ด้วยกัน” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น