กกร.เคาะกรอบประมาณการศก.ไทยปี 2567 คาด GDP จะเติบโตได้ 2.8-3.3% ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย digital wallet เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่จะมีส่วนดัน GDP 1-1.5% ยอมรับ ศก.ยังเปราะบางเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3% สูง เหตุเจอทั้งศก.โลกและปัจจัยภายในฉุดรั้ง จี้รัฐแตะเบรกขึ้นค่าไฟหวั่นดันเงินเฟ้อปี’67ขยับ เร่งตั้ง กรอ.พลังงานหวังแก้ไขทั้งโครงสร้าง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ประจำเดือนธ.ค. 66 ได้พิจารณากรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของไทย โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คาดว่าจะเติบโต 2.8 -3.3% การส่งออก 2-3% เงินเฟ้อ 1.7-2.2% จากปี 2566 ที่คาดว่า GDP จะอยู่ที่ 2.5-3% ส่งออกลบ 2-ลบ1% เงินเฟ้อ 1.3-1.7% อย่างไรก็ตาม GDP ปี 2567 เองก็มีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับเป็นปีที่ 6 ติดต่อกันจากการเผชิญทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เน้นวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง รวมถึงการกลับมาจัดชั้นคุณภาพหนี้ตามปกติหลังยุคโควิด-19 และยังท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ส่วนปัจจัยบวกปี 2567 ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 33 ล้านคนเพิ่มอีก 5 ล้านคนจากปี 2566
“เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตได้ต่ำกว่าที่คาด โดย 9 เดือนแรกเติบโตได้เพียง 1.9% โดยเฉพาะส่งออกยังชะลอตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาดไว้ ขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป เศรษฐกิจเอเชียไม่รวมจีน น่าจะขยายตัวได้ดี ทำให้การส่งออกไทยน่าจะกลับมาดีได้ แต่เศรษฐกิจภายในเองก็เปราะบางเช่นกัน” นายสนั่นกล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2567 ที่ กกร.ประมาณการที่ GDP จะโต 2.8-3.3% ภายใต้นโยบายรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินดิจิทัลวอลเล็ต (digital wallet) ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาทซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ราว 1-1.5%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยต้องให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเน้นไปที่เร่งเจรจา FTA ดึงดูดการลงทุน ดูแลต้นทุนพลังงาน เตรียมพร้อมกำลังคนที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 ที่เห็นว่ารัฐควรจะตรึงไว้ที่เฉลี่ย 3.99 บาท/หน่วยไว้ก่อนและให้พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อปรับโครงสร้างให้ค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ
“ค่าไฟที่จะปรับขึ้นเป็น 4.68 บาท/หน่วยปรับขึ้นถึง 17% ซึ่งจะกระทบต่อสมาชิกอุตสาหกรรมของส.อ.ท.ที่ล่าสุดมี 46 กลุ่มแต่ละอุตสาหกรรมก็จะกระทบมากน้อยต่างกันไปตามการใช้ไฟ ต้นทุนที่เพิ่มจะทำให้ราคาสินค้าภาพรวมจะปรับขึ้น 5-10% ซึ่งก็จะไปกระทบค่าครองชีพประชาชน อย่างไรก็ตามกรณีที่รัฐระบุว่าจะตรึงไว้หรือหากขึ้นก็จะไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วย ซึ่งหากขึ้นเป็น 4.20 บาท/หน่วยค่าไฟจะเพิ่ม 5% หนุนราคาสินค้าขยับเป็นราว 2-4%” นายเกรียงไกรกล่าว
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องการให้รัฐเร่งตั้ง กรอ.พลังงานเพื่อมาพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าเร่งด่วน ระหว่างนี้ให้ยืนค่าไฟที่อัตรา 3.99 บาท/หน่วยไปก่อนเพราะต้องยอมรับว่าค่าไฟประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนามต่ำกว่าไทยมากและมีความเสถียร เป้าหมายที่ต้องการปรับโครงสร้างไม่ต้องการให้การแก้ไขปัญหาเป็นการโยนภาระไปข้างหน้าด้วยการยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากนี้ควรจะส่งเสริมเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า ทบทวนสูตรราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ ฯลฯ เพื่อให้ค่าไฟไทยมีต้นทุนที่ต่ำลง