ไทย-อียูเจรจาจัดทำ FTA รอบแรกที่บรัสเซลส์ เริ่มต้นได้ดี ทั้งการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ เผยมีการแลกเปลี่ยนข้อเสนอร่างความตกลง การทำความเข้าใจนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เตรียมเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมสรุปความคืบหน้าผลการเจรจากลางเดือน ต.ค.นี้ ก่อนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบ 2 ต้นปีหน้า วางแผนเจรจาอีก 2 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบแรก ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่า การเจรจาในภาพรวมเป็นไปด้วยดี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนข้อเสนอร่างความตกลง และการทำความเข้าใจกับข้อเสนอนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งวางแผนการทำงานในรอบต่อไป
โดยการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ได้แก่ 1. การค้าสินค้า 2. กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3. พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4. มาตรการเยียวยาทางการค้า 5. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7. การค้าบริการและการลงทุน 8. การค้าดิจิทัล 9. ทรัพย์สินทางปัญญา 10. การแข่งขันและการอุดหนุน 11. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14. รัฐวิสาหกิจ 15. พลังงานและวัตถุดิบ 16. ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17. ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18. การระงับข้อพิพาท และ 19. บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ
ทั้งนี้ กรมเตรียมเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมประชุมสรุปความคืบหน้าผลการเจรจาครั้งแรกในช่วงกลางเดือน ต.ค. 2566
สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค. 2567 ณ กรุงเทพฯ และกำหนดให้มีการเจรจาอีก 2 รอบในปี 2567 หรืออาจเพิ่มเติมระหว่างรอบ เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายใน 2 ปี หรือปี 2568
ที่ผ่านมา สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้ประเมินประโยชน์และผลกระทบเบื้องต้นของการจัดทำ FTA ไทย-อียู คาดว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัวร้อยละ 1.28 ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.83 ต่อปี การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 ต่อปี รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงานของไทย และสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในตลาดอียู ขณะเดียวกันจะช่วยยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ให้เป็นสากลมากขึ้น