xs
xsm
sm
md
lg

เคียฟกลุ้ม! นายกฯ ฮังการีลั่นไม่สนับสนุน ‘ยูเครน’ อีกต่อไป อ้างปมจำกัดสิทธิชนกลุ่มน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการีประกาศต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ (25 ก.ย.) ว่ารัฐบาลของตนจะไม่สนับสนุนยูเครนในกิจการระหว่างประเทศอีกต่อไป จนกว่าเคียฟจะให้การรับรองสิทธิของคนเชื้อสายฮังการีในการใช้ภาษาของตนเอง

ออร์บาน ยังระบุด้วยว่า ฮังการีจะ “ไม่รีบร้อน” ให้สัตยาบันรับรองสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนว่ากระบวนการนี้อาจจะต้องล่าช้าออกไปอีก โดยเวลานี้สวีเดนรอเพียงการอนุมัติรับรองจากฮังการีและตุรกีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นก็จะได้เข้านาโตอย่างสมบูรณ์

รัฐบาลฮังการีอ้างว่า คนเชื้อสายฮังการีราว 150,000 คนในยูเครนถูกจำกัดสิทธิในการใช้ภาษาของตนเอง โดยเฉพาะในระบบการศึกษา หลังจากที่เคียฟออกกฎหมายจำกัดการใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อยในโรงเรียนเมื่อปี 2017

“พวกเขาต้องการเปลี่ยน (โรงเรียนฮังการี) ให้กลายเป็นโรงเรียนยูเครน และพอมันไม่เวิร์กพวกเขาก็ต้องการปิดโรงเรียนเหล่านั้นเสีย” ออร์บาน ซึ่งเป็นผู้นำสายชาตินิยมจัด ระบุในถ้อยแถลง พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลของตนจะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของคนเชื้อสายฮังการีในภาคตะวันตกของยูเครน

“เราจะไม่สนับสนุนยูเครนในกิจการระหว่างประเทศทุกรูปแบบ จนกว่าพวกเขาจะนำกฎหมายที่รับรองสิทธิของคนเชื้อสายฮังการีกลับมาใช้ใหม่”

ถ้อยแถลงของ ออร์บาน มีขึ้นหลังจากที่ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้นำเสนอวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการขยายตัวของสหภาพยุโรปที่มียูเครนรวมอยู่ด้วย โดยบรรดาชาติอียูจะต้องตัดสินใจกันภายในเดือน ธ.ค.นี้ว่าจะอนุมัติให้ยูเครนเริ่มต้นกระบวนการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ และขั้นตอนนี้จะ “ผ่าน” ได้ก็ต่อเมื่อได้เสียงสนับสนุนจากรัฐอียูครบทั้ง 27 ประเทศ

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนเคยกล่าวเอาไว้หลังจากชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2019 ว่า ตนเชื่อว่ายูเครนจำเป็นต้องจัดทำร่างกฎหมายเพื่อให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในแง่ของภาษาและศาสนา

ทั้งนี้ การได้รับไฟเขียวให้เริ่มกระบวนการเจรจาเข้าอียูจะถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับเคียฟ ซึ่งไม่เพียงต้องการขับไล่ทหารรัสเซียออกไปให้พ้นประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องการปลดเปลื้องอิทธิพลของรัสเซียเพื่อหันมากระชับความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกแทน

แม้ฮังการีจะเป็นหนึ่งในรัฐนาโตที่คัดค้านปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่ ออร์บาน ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2010 ก็มีสายสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับรัสเซีย ซึ่งทำให้เขาปฏิเสธที่จะประณามประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน และยังไม่ยอมส่งอาวุธช่วยเหลือยูเครนด้วย

ออร์บาน ชี้ว่า ฮังการีไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนรับสวีเดนเข้าร่วมนาโต อีกทั้งสวีเดนก็ไม่ได้เผชิญภัยคุกคามด้านความมั่นคงแต่อย่างใด

“ผมสงสัยอยู่ว่ามีอะไรเร่งด่วนหนักหนาที่ทำให้เราจำเป็นต้องรับรองสวีเดนเข้านาโต ผมไม่เห็นจะมีอะไรเลย” ออร์บาน กล่าว

นายกฯ ฮังการียังกล่าวต่อสภาเมื่อวันจันทร์ (25) ด้วยว่า แผนของบรัสเซลส์ที่ต้องการให้ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งยุโรปและฮังการี

ฮังการีเป็นชาติที่พึ่งพาทั้งน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียอย่างมาก แต่กระนั้น ออร์บาน ก็ยืนยันว่ารัฐบาลเริ่มที่จะแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ โดยมีการเจรจากับทั้งกาตาร์ ตุรกี และอาเซอร์ไบจานเพื่อสั่งซื้อก๊าซจากประเทศเหล่านี้

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น