xs
xsm
sm
md
lg

เคียฟงานเข้า! โปแลนด์เดือดเลิกจัดหาอาวุธให้ยูเครน เคืองคำพูดปากดีของ 'เซเลนสกี'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โปแลนด์ประกาศกร้าวในวันพุธ (20 ก.ย.) จะไม่จัดหาอาวุธป้อนแก่ยูเครนอีกต่อไปแล้ว และจะหันมามุ่งเน้นด้านป้องกันตนเองแทน หลัง "เซเลนสกี" กล่าวบนเวทียูเอ็น เหน็บแนมโปแลนด์กรณีแบนนำเข้าธัญพืชว่าเป็นการแอบช่วยรัสเซีย

ท่ามกลางประเด็นโต้เถียงที่เผ็ดร้อนขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการส่งออกธัญพืช โปแลนด์ได้เรียกเอกอัครราชทูตยูเครนเข้าพบ เพื่อประท้วงความเห็น ณ เวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน

ผู้นำยูเครนกล่าวว่า มีบางประเทศแสร้งทำเป็นสนับสนุนประเทศของเขา ในขณะที่เคียฟกำลังเปิดปฏิบัติการโจมตีตอบโต้เพื่อทวงคืนดินแดนจากรัสเซีย คำพูดที่ก่อความขุ่นเคืองแก่วอร์ซอ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติเกี่ยวกับการนำเข้าธัญพืชจากยูเครน หลังโปแลนด์ ฮังการี และสโลวะเกียขยายขอบเขตการแบนการนำเข้าธัญพืชจากยูเครน

โปแลนด์ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนตัวยงของยูเครน หลังถูกรัสเซียรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 และเป็นหนึ่งในผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ป้อนแก่เคียฟ

อาวุธที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จัดหาแก่ยูเครน ส่วนใหญ่แล้วเป็นการส่งผ่านโปแลนด์ ซึ่งมีชายแดนทางตะวันออกติดกับยูเครน นอกจากนี้ โปแลนด์ยังเป็นแหล่งพักพิงของพวกผู้ลี้ภัยยูเครนมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งได้ประโยชน์จากความช่วยเหลือของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ

ความตึงเครียดโหมพระพือขึ้นจากคำสั่งแบนของโปแลนด์ ที่ห้ามนำเข้าธัญพืชของยูเคน เพื่อปกป้องเกษตรกรของพวกเขา ทั้งนี้เมื่อถูกถามว่าประเทศของเขาจะเดินหน้าให้การสนับสนุนเคียฟต่อไปหรือไม่ แม้เกิดความขัดแย้งนี้ ทางนายกรัฐมนตรี มาแตอุช มอราวีแยตสกี ตอบว่า "เราไม่ถ่ายโอนอาวุธแก่ยูเครนต่อไปอีกแล้ว เพราะเวลานี้เรากำลังติดอาวุธแก่โปแลนด์เอง ด้วยอาวุธที่ล้ำสมัยมากกวาเดิม"

ยูเครนเคยเป็นหนึ่งในชาติผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลกก่อนจะถูกรัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 ซึ่งทำให้ศักยภาพในการส่งออกผลผลิตธัญพืชสู่ตลาดโลกลดลงไปมาก

เกษตรกรชาวยูเครนต้องพึ่งพาการส่งออกผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากท่าเรือในทะเลดำซึ่งเคยเป็นเส้นทางส่งออกหลักถูกกองทัพรัสเซียปิดล้อมมานานกว่า 18 เดือน

อย่างไรก็ตาม การไหลเข้าของธัญพืชและน้ำมันเมล็ดพืชจากยูเครนซึ่งมีราคาถูกกว่าก็ส่งผลให้ราคาในท้องตลาดตกต่ำลง และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรในท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลยุโรปตะวันออกหลายประเทศจึงได้กำหนดมาตรการแบนธัญพืชและผลผลิตทางการเกษตรที่นำเข้าจากยูเครนเพื่อปกป้องเกษตรกรของตัวเอง

เมื่อเดือนพฤษภาคม สหภาพยุโรป (อียู) ตัดสินใจเข้าแทรกแซงด้วยการห้ามไม่ให้รัฐสมาชิกแต่ละประเทศสั่งแบนธัญพืชยูเครนฝ่ายเดียว โดยอียูอนุญาตให้ 5 สมาชิกในยุโรปตะวันออก ซึ่งได้แก่ บัลแกเรีย ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวะเกีย สามารถห้ามการจำหน่ายข้าวสาลี ข้าวโพด และเมล็ดทานตะวันที่นำเข้าจากยูเครนได้ ทว่ายังคงอนุญาตให้ธัญพืชจากยูเครนถูกขนส่งผ่านดินแดนของทั้ง 5 ชาติเพื่อส่งต่อไปจำหน่ายประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ (15 ก.ย.) โปแลนด์ สโลวะเกีย และฮังการี ประกาศมาตรการจำกัดการนำเข้าธัญพืชจากยูเครน หลังคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ขยายคำสั่งห้ามนำเข้าธัญพืชยูเครนสู่ 5 ชาติในยุโรปตะวันออกที่มีพรมแดนติดกับยูเครน

แคทเธอรีน โคลอนนา รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี ณ สหประชาชาติ ว่าการตัดสินใจของโปแลนด์ที่แบนธัญพืชของยูเครนนั้นไม่ชอบธรรม

เรื่องราวเกี่ยวกับการนำเข้าธัญพืชเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่งในโปแลนด์ ประเทศที่กำลังมีการจัดเลือกตั้งในเดือนหน้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลฝ่ายขวาของพรรคกฎหมายและความยุติธรรม (Law and Justice party) มีฐานเสียงที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเกษตรกรรมทั้งหลาย

"เราเป็นชาติแรกที่ทำอะไรต่างๆ เพื่อยูเครนมากมาย และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงคาดหวังว่าพวกเขาจะเข้าใจถึงผลประโยชน์ของเราบ้าง" มอราวีแยตสกี กล่าว "แน่นอนว่า เราเคารพทุกปัญหาของพวกเขา แต่สำหรับเรา ผลประโยชน์ของเกษตรกรของเราคือสิ่งสำคัญที่สุด"

เคียฟตอบโต้ความเคลื่อนไหวของโปแลนด์ ฮังการี และสโลวะเกีย ด้วยการแถลงว่าพวกเขาจะยื่นคำร้องไปยังองค์การการค้าโลก (WTO)

อย่างไรก็ตาม ทาง มอราวีแยตสกี เตือนก่อนหน้านี้ในวันพุธ (20 ก.ย.) ว่าเขาอาจจะขยายรายชื่อผลิตภัณฑ์จากยูเครนที่อยู่ในบัญชีห้ามนำเข้า หากว่าเคียฟโหมกระพือความขัดแย้งเกี่ยวกับธัญพืชให้ลุกลามบานปลาย

กระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ ระบุว่า "การกระพือแรงกดดันใส่โปแลนด์ในเวทีประชุมนานาชาติ หรือส่งคำร้องเรียนไปยังศาลระหว่างประเทศ ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม สำหรับคลี่คลายความเห็นต่างระหว่าง 2 ประเทศของเรา"

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น