ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เมื่อวันพุธ (20 ก.ย.) เผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง ณ เวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประณามการรุกรานประเทศของเขาของเครมลินว่าเป็น "อาชญากรรม" และเรียกร้องสหประชาชาติถอดถอนอำนาจวีโต้ของมอสโก
ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ยูเครนถูกรัสเซียรุกราน ที่ เซเลนสกีอยู่ในห้องประชุมหนึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่รัสเซียรายหนึ่งรายใด ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัสเซียรายดังกล่าวตอบสนองด้วยท่าทีเมินเฉยอย่างเห็นได้ชัด เอามือปัดสมาร์ทโฟนเล่นไปพลางๆ
"ทั้งโลกตระหนักถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงครามนี้" เซเลนสกีกล่าว "มันคือการรุกรานอาชญากรรมและปราศจากการยั่วยุ โดยรัสเซียต่อประเทศของเรา โดยมีเป้าหมายคือยึดดินแดนและทรัพยากรของยูเครน"
เซเลนสกี เรียกร้องสหประชาชาติลงมติถอนอำนาจวีโต้ของรัสเซีย ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมอสโก เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ มีสิทธิขัดขวางมติใดๆ ในฐานะสมาชิกถาวร
ผู้นำยูเครนชี้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวควรเป็นหนึ่งในการปฏิรูปอย่างกว้างขวางครอบคลุม ณ คณะมนตรีความมั่นแห่งสหประชาชาติ ซึ่งในนั้นรวมถึงมอบอำนาจการตัดสินใจสูงสุดของสมาชิกถาวร สู่โลกกำลังพัฒนา กลุ่มที่ให้การสนับสนุนเหตุผลของยูเครนค่อนข้างอบอุ่น
"ด้วยอำนาจวีโต้อยู่ในมือของผู้รุกราน มันผลักให้สหประชาชาติเข้าสู่ทางตัน" เซเลนสกีกล่าว "มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดสงคราม เพราะทุกความพยายามถูกวีโต้โดยผู้รุกรานหรือพวกที่ไม่ถือโทษผู้รุกราน"
เซเลนสกี เน้นย้ำว่าจุดยืนของยูเครนคือ อำนาจวีโต้ของรัสเซียเป็นของอดีตสหภาพโซเวียต หนึ่งในผู้ชนะของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งสหประชาชาติขึ้น และไม่ใช่ของรัสเซียของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
"เคราะห์ร้าย เก้าอี้ตัวนี้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัสเซียยึดครองอย่างผิดกฎหมายผ่านการจัดแจงอยู่ฉากหลัง ตามหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถูกใช้เป็นเครื่องมือของพวกผู้โกหกหลอกลวง ซึ่งมีหน้าที่คอยปกปิดล้างบาปการรุกรานและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" เซเลนสกีระบุ
การถอนอำนาจวีโต้พ้นจากรัสเซียจะเป็นเรื่องลำบากอย่างที่สุด ด้วย เซเลนสกี ยอมรับว่า มอสโกคงจะไม่ "สละสิทธิพิเศษที่ขโมยมาง่ายๆ" อย่างไรก็ตามเรื่องแบบนี้เคยมีตัวอย่างมาก่อน โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 1971 โอนย้ายสิทธิวีโต้ของไต้หวัน ซึ่งตอนนั้นถูกพิจารณาว่าเป็นตัวแทนของจีน สู่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่
เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งปรากฏตัว ณ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หลัง เซเลนสกี เดินทางออกไปแล้ว เยาะเย้ยความคิดถอนสิทธิวีโต้ของรัสเซีย ให้คำจำกัดความมันว่าเป็นเพียงหนทางหยั่งเชิงอำนาจของตะวันตกเท่านั้น
"การใช้อำนาจวีโต้เป็นเครื่องมือที่ชอบธรรมอย่างที่สุด กฎบัตรสหประชาชาติ" ลาฟรอฟกล่าว พร้อมตำหนิเซเลนสกีซึ่งกำลังหาทางทวงคืนทุกดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครอง สำหรับการปฏิเสธเจรจา
จากนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียได้หันไปหา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่กำลังจ้องมองมา และชี้แนะว่าอเมริกาสามารถสั่งให้ เซเลนสกี ยอมลดราวาศอกแล้วหันมาเจรจาได้
ที่ผ่านมา บลิงเคน ซึ่งเคยพบปะกับ ลาฟรอฟ ก่อนเกิดสงครามเพื่อเตือนเกี่ยวกับการรุกราน หลีกเลี่ยงพบปะกับ ลาฟรอฟ เป็นส่วนใหญ่นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น และในคราวนี้ทั้งคู่ไม่มีแผนพบปะพูดคุยกัยในนิวยอร์ก
ในการแสดงความคิดเห็นขณะที่ ลาฟรอฟ กำลังเดินเข้ามาในห้อง บลิงเคน พูดย้อนถึงครั้งที่เขาเดินทางเยือนยูเครนเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้ลงพื้นที่ไปยังเมืองๆ หนึ่ง และพบพลเรือนยูเครนต้องใช้ชีวิตร่วมกับกองศพ บริเวณชั้นใต้ดินของโรงเรียนแห่งหนึ่งในระหว่างหลบภัยสงคราม "รัสเซียกำลังก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติในยูเครนแทบทุกวัน" บลิงเคนกล่าว
(ที่มา : เอเอฟพี)