xs
xsm
sm
md
lg

ทนทรมานไม่ไหว! ฮังการีเชื่อท้ายที่สุดอียูจะกดดันยูเครนเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรดารัฐสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ในท้ายที่สุดแล้วจะบีบให้ยูเครนเข้าสู่การเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย สืบเนื่องจากปัญหาความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจภายในประเทศ จากความเห็นของ วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุแห่งหนึ่งเมื่อวันศุกร์ (15 ก.ย.)

"ความเสื่อมโทรมของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในตะวันตกจะบีบให้ประเทศต่างๆ ยืนหยัดเพื่อสันติภาพ" ออร์บานกล่าว

ออร์บาน กล่าวผ่านรายงาน "กู้ดมอร์นิง ฮังการี" ต่อว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปีครึ่ง กำลังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจยุโรป ซึ่ง "มันจะไม่เป็นไปในแบบที่เราต้องการอยากให้เป็น ตราบใดที่มันลากยาวออกไป แม้พวกผู้สนับสนุนสงครามยังคงเป็นเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นในหมู่รัฐบาลทั้งหลายในอียู"

นายกรัฐมนตรีรายนี้เชื่อว่า ถ้ามีอะไรบางอย่างที่จะบีบให้ชาติต่างๆ ในอียูพิจารณาทบทวนจุดยืนของตนเองในความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย นั่นก็คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ในทวีปแห่งนี้ โดยเขาอ้างว่าเวลานี้คนส่วนใหญ่ในยุโรปเริ่มมีจุดยืนต่อต้านสงครามแบบเดียวกับฮังการี และปัญหาความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจจะบีบให้ประชาชนเหล่านี้ออกแรงกดดันถาโถมเข้าใส่รัฐบาลของพวกเขา

นอกจากนี้ ออร์บานยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ผลลัพธ์ของศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อจุดยืนโดยทั่วไปของตะวันตกในประเด็นดังกล่าว "มีความเป็นไปได้ 2 อย่าง แคนดิเดตประธานาธิบดีจะสนับสนุนสงครามต่อไป หรือประกาศยุติสงคราม"

ออร์บาน เชื่อว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายหนึ่งรายใดมีขีดความสามารถโดยสิ้นเชิงในการยุติความขัดแย้ง นั่นหมายความว่า ยุโรปไม่ควรเอาแต่รออำนาจวิเศษไม้กายสิทธิ์ใดๆ ในการยุติสงคราม

ผู้นำฮังการี วิพากษ์วิจารณ์แนวทางรับมือกับความขัดแย้งของยุโรป ที่ว่ากันว่าเวลานี้ยุโรปได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 181,000 ล้าน ในการสนับสนุนเคียฟ "แต่เราไม่ได้เฉียดใกล้สันติภาพใดๆ เลย" ทั้งนี้ ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ายอดเงินดังกล่าวที่เขาอ้างถึงนั้นเป็นสกุลเงินดอลลาร์หรือยูโร

จากข้อมูลการติดตามการสนับสนุนยูเครน ที่เผยแพร่เป็นประจำโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Kiel Institute for the World Economy ของเยอรมนี พบว่าสถาบันต่างๆ ของอียูและเหล่าประเทศอียูมอบความ่วยเหลือแก่ยูเครนรวมกันแล้วกว่า 131,9000 ล้านยูโร เฉพาะระหว่างเดือนมกราคม 2022 ถึงกรกฎาคม 2023

ส่วนสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมกับอียู รับปากมอบเงินช่วยเหลือรวมกัน 23,310 ล้านยูโร ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ยอดรวมที่ยุโรปสัญญามอบแก่ยูเครน ตามข้อมูลของสถาบัน Kiel Institute for the World Economy อยู่ที่ 155,210 ล้านยูโร

วิกเตอร์ ออร์บาน ยืนกรานมาช้านานว่า ตะวันตกกำลังทำผิดพลาดด้วยการเสาะหาการเผชิญหน้ากับรัสเซียในยูเครน เขาเน้นย้ำมาตลอดว่ามาตรการด้านการทหารไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้ง พร้อมระบุว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรจำเป็นต้องหยุดจัดหาอาวุธแก่เคียฟ และแสวงหาสันติภาพกับรัสเซียแทน

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น