วอชิงตัน เปิดทางให้เหล่าพันธมิตรเดินหน้า "เท" ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เนื่องจากเขาเริ่มทำตัวน่ารำคาญมากขึ้นเรื่อยๆ จากคำกล่าวอ้างของ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย.)
ลูคาเชนโก ได้หยิบยกข้อพิพาทเรื่องธัญพืชที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างโปแลนด์กับยูเครน เป็นตัวอย่างของนโยบายใหม่ดังกล่าว โดยอ้างว่า วอร์ซอที่เคยเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่แข็งขันที่สุดของ เซเลนสกี เวลานี้กลับหันมาวิพากษ์วิจารณ์เคียฟ พันธมิตรของพวกเขาอย่างรุนแรง
ท่าทีที่เปลี่ยนไปครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก โปแลนด์ ฮังการี และสโลวะเกีย แบนห้ามนำเข้าธัญพืชของยูเครน แม้ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม สหภาพยุโรป (อียู) เข้าแทรกแซงด้วยการห้ามไม่ให้รัฐสมาชิกแต่ละประเทศสั่งแบนธัญพืชยูเครนฝ่ายเดียว
ยูเครนเคยเป็นหนึ่งในชาติผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลกก่อนจะถูกรัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 ซึ่งทำให้ศักยภาพในการส่งออกผลผลิตธัญพืชสู่ตลาดโลกลดลงไปมาก
เกษตรกรชาวยูเครนต้องพึ่งพาการส่งออกผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากท่าเรือในทะเลดำซึ่งเคยเป็นเส้นทางส่งออกหลักถูกกองทัพรัสเซียปิดล้อมมานานกว่า 18 เดือน
อย่างไรก็ตาม การไหลเข้าของธัญพืชและน้ำมันเมล็ดพืชจากยูเครนซึ่งมีราคาถูกกว่าส่งผลให้ราคาในท้องตลาดตกต่ำลง และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรในท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลยุโรปตะวันออกหลายประเทศจึงได้กำหนดมาตรการแบนธัญพืชและผลผลิตทางการเกษตรที่นำเข้าจากยูเครนเพื่อปกป้องเกษตรกรของตัวเอง
เมื่อเดือนพฤษภาคม สหภาพยุโรป (อียู) ตัดสินใจเข้าแทรกแซงด้วยการห้ามไม่ให้รัฐสมาชิกแต่ละประเทศสั่งแบนธัญพืชยูเครนฝ่ายเดียว โดยอียูอนุญาตให้ 5 สมาชิกในยุโรปตะวันออก ซึ่งได้แก่ บัลแกเรีย ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวะเกีย สามารถห้ามการจำหน่ายข้าวสาลี ข้าวโพด และเมล็ดทานตะวันที่นำเข้าจากยูเครนได้ ทว่ายังคงอนุญาตให้ธัญพืชจากยูเครนถูกขนส่งผ่านดินแดนของทั้ง 5 ชาติเพื่อส่งต่อไปจำหน่ายประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ที่ 15 กันยายนโปแลนด์ สโลวะเกีย และฮังการี ประกาศมาตรการจำกัดการนำเข้าธัญพืชจากยูเครน หลังคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ขยายคำสั่งห้ามนำเข้าธัญพืชยูเครนสู่ 5 ชาติในยุโรปตะวันออกที่มีพรมแดนติดกับยูเครน
ในส่วนของยูเครน ตอบโต้ความเคลื่อนไหวของโปแลนด์ ฮังการี และสโลวะเกีย ด้วยการยื่นคำร้องโต้แย้งไปยังองค์การการค้าโลก (WTO)
"คุณคิดหรือว่าที่วันนี้โปแลนด์กำลังถาโถมแรงกดดันใส่ยูเครนผู้น่าสงสาร เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่มีเหตุผล? ไม่ใช่เลย พวกเขาได้รับไฟเขียวให้เดินหน้าจากต่างแดน พวกเขาพูดว่า เราจำเป็นต้องเท เซเลนสกี เราเหนื่อยหน่ายกับเขาแล้ว" ลูคาเชนโกกล่าวอ้าง
ลูคาเชนโก เน้นว่าศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใกล้เข้ามาแล้ว และบ่งชี้ว่าเมื่อถึงตอนนี้จะไม่มีใครแคร์ เซเลนสกี อีกต่อไป
คำกล่าวอ้างของ ลูคาเชนโก มีขึ้นแม้ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย.) เพิ่งแถลงว่า วอชิงตัน ยังจะยึดมั่นในตัวของ เซเลนสกี ตลอดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และประกาศว่ารถถังเอบรามส์ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ จะเริ่มส่งถึงมือยูเครนในสัปดาห์หน้า
ขณะเดียวกัน เซเลนสกี ซึ่งเดินทางเยือนวอชิงตันเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เกิดสงคราม ยืนกรานว่าการที่ยูเครนจะเดินหน้าสู้รบกับรัสเซียได้ จำเป็นต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือด้านการทหารที่ยั่งยืนจากสหรัฐฯ และบอกว่าถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือ "ยูเครนจะพ่ายแพ้ในสงคราม"
จนถึงตอนนี้ รัฐบาลของไบเดน มอบความช่วยเหลือด้านการทหารและการเงินแก่เคียฟไปแล้วกว่า 115,000 ล้านดอลลาร์ และเมื่อเร็วๆ นี้คำร้องขอเพิ่มเติมอีก 2,400 ล้านดอลลาร์ คาดหมายว่าจะได้รับอนุมติในช่วงสิ้นเดือน อย่างไรก็ตาม มีบรรดาสมาชิกคนสำคัญของพรรครีพับลิกันเพิ่มมากขึ้นที่เริ่มคัดค้านใช้เงินของผู้เสียภาษีสหรัฐฯ ช่วยเหลือรัฐบาลของเซเลนสกี
จอช ฮาว์ลีย์ วุฒิสมาชิกรีพับลิกันจากมิสซูรี เน้นย้ำในวันพุธ (20 ก.ย.) ว่าสหรัฐฯ ควรหยุดไหลบ่าเงินไปยังยูเครนแบบที่ไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องด้วยเคียฟไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าใดๆ ซึ่งดูเหมือนว่าวุฒิสมาชิกรายนี้จะพาดพิงถึงปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ช่วงฤดูร้อนที่ยูเครนคุยโวไว้อย่างมาก แต่ล้มเหลวในการรุกคืบทวงคืนดินแดนอย่างมีนัยสำคัญใดๆ
ฮาวลีย์ เน้นว่าสหรัฐฯ ไม่ควรใช้จ่ายเงินไปกับยูเครนอีกต่อไปแล้ว และควรหันมาทำการตรวจสอบเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่มอบให้เคียฟไปก่อนหน้านี้ พร้อมชี้แนะว่าเยอรมนีและพันธมิตรยุโรปอื่นๆ ควรก้าวเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบมอบความช่วยเหลือแก่ยูเครนแทน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)