ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม มิ.ย.แตะ 94.1 ขยับขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว แต่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าสวนทางลดลงเหตุยังคงกังวลความไม่ชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาล แนะเพิ่มเที่ยวบิน แก้ปัญหาภัยแล้ง รับมือ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2566 ว่า ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.5 ในเดือนพฤษภาคมและปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยว การก่อสร้างทั้งอสังหาริมทรัพย์โครงการภาครัฐขยายตัว นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและค่าระวางเรือที่ลดลงช่วยสนับสนุนการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลงโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงกดดันราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐคือ ขอให้รัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 (ก.ย.-ธ.ค. 66) ลงมาอยู่ที่ 4.25 บาทต่อหน่วยเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ 2. เสนอให้รัฐปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมตสินค้าไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
3. เสนอให้รัฐเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และ 4. ขอให้ภาครัฐดูแลและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังอยู่ระดับสูง
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลงจาก 104.3 ในเดือนพฤษภาคมเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม