ธนาคารกรุงไทยแจ้งผลประกอบการ 6 เดือนแรก ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 20,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 10,156 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้จากการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้น การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย-คุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง พร้อมยืนหยัดช่วยเหลือประคับประคองลูกค้าแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน รับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจ และภาวะหนี้ครัวเรือนสูง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 20,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 43,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายร้อยละ 20.0 ทั้งจากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อ รวมถึงการขยายตัวของรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ขณะ ที่Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 39.0 ลดลงจากร้อยละ 41.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาล ที่ Cost to Income Ratio ในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 10,156 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 21.2 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 39.3 ลดลง จากร้อยละ 42.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาล ที่ Cost to Income Ratio ในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ถึงแม้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.8 โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 177.4 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) ร้อยละ 3.11 ลดลงจากสิ้นปี 2565
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาโดยหลักความระมัดระวังจึงยังคง Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 177.4 ตามกรอบที่ได้วางไว้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจแม้จะตั้งสำรองลดลง โดย ณ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.86 และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นร้อยละ 20.06 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งการทยอยลดบทบาทมาตรการภาครัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ในขณะที่ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกดดันภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารกรุงไทยจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารมีความห่วงใยและตระหนักถึงผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น พร้อมยืนหยัดดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อ่อนไหวกับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ให้สามารถประคับประคองตัวในการดำรงชีพได้