นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานครึ่งแรก ปี 2566 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 3.150 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 46,000 ล้านบาท มียอดคงค้างสินเชื่อรวม 2.345 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 57,000 ล้านบาท มียอดเงินฝากรวม 2.682 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 36,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 17,344 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 16,000 ล้านบาท โดยยังคงรักษาระดับการนำส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุดเป็นอันดับ 4 ที่ 7,500 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 2.63% จากสิ้นปี 2565 ที่ 2.55% ขณะที่อัตราส่วนการกันสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 172% และมี Cost of Fund ที่ 0.85% จากปีก่อนที่ 0.83%
"ผลประกอบการที่ดีขึ้นต่อเนื่องสะท้อนถึงแนวทางการบริหารงานที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุนนับแต่ปี 2562 ที่เริ่มดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ธนาคารสามารถลดต้นทุนได้ถึง 9,800 ล้านบาทต่อปี ทำให้เรามีเงินมากันสำรองฯ และดำเนินการด้านอื่นๆ ได้ ตรงกับที่เราเชื่อว่าการลดต้นทุนโดยประสิทธิภาพไม่เสียหายจะทำให้องค์กรแข็งแกร่งขึ้น"
นอกจากนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตขอดำเนินธุรกิจสินเชื่อบุคคล และนาโนไฟแนนซ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในปลายปีนี้ และสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในปีหน้า และจะเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่เพื่อทำดิจิทัล เลนดิ้งโดยเฉพาะเป็นลำดับต่อไป
"การที่ออมสินมาทำธุรกิจสินเชื่อบุคคล และนาโนไฟแนนซ์นั้น มีวัตถุประสงค์เดียวกับที่เคยทำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมาแล้ว คือ เพื่อกดดอกเบี้ยที่เราคิดว่าสูงเกินไปลงมาเพื่อลดภาระและเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จโดยดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถลดลงจาก 24-28% มาที่ 16-18% ใน 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การทำ Digital Lending ผ่านแอปพลิเคชันโดยใช้ข้อมูลทางเลือกมาใช้ 100% จะช่วยดึงกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเงินทุนจากสถาบันการเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำซึ่งออมสินทำโครงการต่างๆ เหล่านี้ในหลายด้านมาอย่างต่อเนื่อง"
สำหรับกรณีที่ ธปท.ระบุว่า หนี้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางโดยหลักๆ 70% อยู่ที่สถาบันการเงินของรัฐนั้น นายวิทัย กล่าวว่า หากเป็นกรณีของหนี้หมุนเวียนที่จ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียวมา 4-5 ปีนั้น ที่ธนาคารออมสินมีไม่มาก เพราะธนาคารเองได้ดำเนินการแก้ไข ปรับโครงสร้างนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ผ่อนปรนอยู่ที่ 350,000 ราย ลดลงจากช่วงสถานการณ์โควิดที่เคยสูงถึงประมาณ 500,000 ราย และคาดว่าสิ้นปีนี้จะลงมาที่หลัก 200,000 ราย