xs
xsm
sm
md
lg

PAY LATER ใช้อย่างไรไม่ให้ขาดวินัยการเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


(C) Elf-Moondance (via Pixabay.com)
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือ BUY NOW, PAY LATER (BNPL) เป็นเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล ที่ว่ากันว่าจะเข้ามาแทนที่บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล

BUY NOW, PAY LATER ซึ่งจะขอเรียกสั้นๆ ว่า PAY LATER ตามชื่อผลิตภัณฑ์ของผู้ให้บริการแต่ละราย เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังประสบภาวะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาจับจ่ายผ่านชอปปิ้งออนไลน์มากขึ้น

PAY LATER เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ นำมาให้บริการในประเทศไทยเมื่อกลางปี 2564 โดยรูปแบบคือให้ลูกค้าผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต สามารถแบ่งจ่ายแบบไร้ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมได้ถึง 3 ครั้ง

ขณะเดียวกัน ก็มีแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์รายหนึ่ง ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” หรือ Digital Personal Loan ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเมื่อต้นปี 2563

ลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถเลือกใช้บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) หรือผ่อนชำระ (Installment) โดยไม่ต้องมีบัตรเครดิต ไม่มีค่าธรรมเนียมในการสมัคร และไม่มีขั้นต่ำในการสั่งซื้อ

โดยการอนุมัติสินเชื่อจะพิจารณาจากประวัติการใช้จ่ายในแพลตฟอร์มเป็นหลัก เปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีเงินฝากค้ำประกันสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้โดยง่าย

กระทั่งปลายปี 2564 ธนาคารแห่งหนึ่งเปิดบริการ PAY LATER ผ่านบริการ QR Code Payment on EDC ตามร้านค้าต่างๆ ที่ใช้เครื่อง EDC ของธนาคาร เริ่มจากลูกค้าแอปพลิเคชันธนาคารเฉพาะกลุ่มที่ได้รับเชิญ

โดยเมื่อลูกค้าสแกนจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ดที่เครื่อง EDC แล้ว ลูกค้ากดเข้าไปที่เมนู PAY LATER จะมีให้เลือกผ่อนชำระ 1 เดือน 3 เดือน และ 5 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก สูงสุดไม่เกิน 25% ต่อปีเหมือนสินเชื่อบุคคล

คอนเซปต์บริการนี้ เป็นการให้วงเงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้ารายย่อย การสมัครไม่ต้องใช้เอกสารแสดงรายได้ ไม่ต้องค้ำประกัน ขอเพียงแค่เดินบัญชีกับธนาคารก็พอ

ด้วยความที่ธนาคารดังกล่าวมีเครือข่ายร้านค้ารับบัตรจำนวนมาก และมีการบอกต่อกันในโซเชียลฯ โดยเฉพาะกลุ่มเฟซบุ๊ก ทำให้บริการดังกล่าวได้รับความนิยม และมีธนาคารอีกแห่งให้บริการตามมา แต่ให้บริการเฉพาะกลุ่มลูกค้า

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเรียกรถและสั่งอาหารออนไลน์รายหนึ่ง ก็มีบริการ PAY LATER เช่นกัน แต่ให้วงเงินสำหรับใช้บริการในแพลตฟอร์มโดยไม่มีดอกเบี้ย ก่อนสรุปยอดและหักบัญชีบัตรเครดิต ไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

จะเห็นได้ว่า บริการ PAY LATER ในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ ทั้งการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือแบ่งจ่ายแบบไร้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ไปถึงการให้บริการในรูปแบบสินเชื่อบุคคลแบบมีดอกเบี้ย

ถือเป็นอีกเครื่องมือทางการเงินในการจับจ่ายใช้สอย นอกจากตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการลดการใช้เงินก้อนใหญ่แล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำรองเมื่อเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ถูกใช้เต็มวงเงินไปแล้ว

หากเปรียบเทียบระหว่าง PAY LATER กับบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดจะพบว่าแตกต่างกัน เพราะ PAY LATER จะกำหนดให้ชำระเงินตามยอดที่เราเลือกในวันที่ซื้อสินค้าและบริการ

หากไม่ได้ทำรายการแบ่งจ่ายตั้งแต่ต้น ก็ต้องจ่ายเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่กำหนด แต่ข้อดีก็คือ หากชำระคืนตรงเวลาก็ถือว่าจบ วงเงินที่ชำระคืนแล้ว ก็กลับมาให้เรานำไปใช้จ่ายต่อได้อีก

ขณะที่บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด แม้จะสามารถชำระขั้นต่ำได้ตามที่ธนาคารกำหนด แต่ก็ต้องแลกมาด้วยดอกเบี้ยที่เดินหน้าไม่หยุด จนกว่าจะหาเงินมาชำระเต็มจำนวนและดอกเบี้ยที่ติดค้างทั้งหมด

อีกด้านหนึ่ง การใช้ PAY LATER ที่ไม่มีดอกเบี้ย ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เพราะคิดว่าไม่มีดอกเบี้ย คล้ายกับการแบ่งจ่าย 0% แต่หากใช้จ่ายหลายรายการ หรือมียอดใช้จ่ายมากเกินไป จะเหนื่อยตอนเวลาชำระเงิน

จากประสบการณ์ที่ใช้จ่ายผ่าน PAY LATER มานาน พอจะมีคำแนะนำที่จะทำให้การใช้เครื่องมือดังกล่าว ไม่ให้กลายเป็นการ “ขาดวินัยทางการเงิน” ดังต่อไปนี้

1. ใช้ PAY LATER เท่าที่จ่ายไหว เพราะความจำเป็นในการใช้จ่ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้ธนาคารหรือแต่ละแพลตฟอร์มจะให้วงเงินมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่ก็ควรคำนึงถึงรายได้ว่า เรามีรายรับพอจะใช้หนี้คืนหรือไม่

โดยนึกถึงรายจ่ายประจำที่ต้องกันไว้ในแต่ละเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าผ่อนชำระสินเชื่อ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ฯลฯ เงินที่เหลือจากรายจ่ายประจำ จะบ่งบอกว่ามีความสามารถในการใช้คืนมากน้อยแค่ไหน

2. จัดลำดับความสำคัญ PAY LATER กับเครื่องมือทางการเงินแบบอื่น เช่น ถ้ามีบัตรเครดิต ที่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยหากจ่ายเต็มจำนวน และได้รับคะแนนสะสมหรือเครดิตเงินคืน ควรยกให้เป็นลำดับแรก

ส่วน PAY LATER ที่ใช้ก่อนจ่ายทีหลังแบบไม่มีดอกเบี้ย อาจจะยกไว้เป็นลำดับรองลงมา ส่วน PAY LATER ที่คิดดอกเบี้ยแบบสินเชื่อบุคคล อาจจัดลำดับไปอยู่ท้ายๆ ไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นจริงๆ

3. ต้องรู้กำหนดวันสรุปยอดและวันครบกำหนดชำระ เช่น ธนาคาร A สรุปยอดทุกวันที่ 15 ของเดือน กำหนดชำระทุกสิ้นเดือน หรือแพลตฟอร์ม B สรุปยอดทุกสิ้นเดือน กำหนดชำระไม่เกินวันที่ 10 ของเดือนถัดไป

อาจใช้วิธีจดยอดรวม PAY LATER แต่ละแห่งที่ใช้ไป ซึ่งตรวจสอบได้จากเมนูสินเชื่อของแต่ละแพลตฟอร์ม และกำหนดวันชำระเงิน ร่วมกับเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อวางแผนการใช้หนี้คืนให้สอดคล้องกับรายรับที่จะเข้ามา

4. หากยอดซื้อจำนวนมากควรใช้วิธีแบ่งชำระ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือโทรศัพท์มือถือ บางแพลตฟอร์มผ่อนชำระได้แบบไม่มีดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยอัตราพิเศษ เวลาชำระหนี้คืนจะได้ไม่เหนื่อยมาก เมื่อเทียบกับจ่ายเต็มจำนวน

อย่าลืมว่า PAY LATER ต่างจากบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลตรงที่ “ไม่มีชำระขั้นต่ำ” หากไม่ได้แบ่งชำระมาก่อน ต้องจ่ายตามยอดเรียกเก็บ หากผิดนัดชำระนอกจากจะถูกระงับวงเงินแล้ว ยังมีค่าทวงถาม เสียเครดิตไปโดยปริยาย

5. อย่าใช้วิธีถอนเงินสดจาก PAY LATER แม้จะมีบางร้านค้าที่รับแลกวงเงิน PAY LATER เป็นเงินสด แต่ก็ผิดวัตถุประสงค์ของผู้ให้บริการ หากถูกจับได้ ผู้ให้บริการมีสิทธิ์ที่จะระงับบริการทั้งลูกค้าและร้านค้า

นอกจากลูกค้าจะถูกร้านค้าหักเปอร์เซ็นต์ ที่บางแห่งหักแบบมหาโหด ได้รับเงินไม่เต็มจำนวนแล้ว ความพยายามในการแลกวงเงินเป็นเงินสด ย่อมบ่งชี้ว่าสถานการณ์ทางการเงินในตอนนั้นเป็นอย่างไร และจะปวดหัวเมื่อถึงเวลาจ่ายคืน

6. หากมีหนี้สินอื่น ควรใช้ PAY LATER เฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะคนที่ใช้วงเงินจากบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด มากเกินกว่าที่จะชำระคืนเต็มจำนวน เพราะจะยิ่งเพิ่มความน่าปวดหัวเมื่อถึงเวลาจ่ายคืนอีกที

หากต้องจมอยู่กับยอดค้างชำระบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดจำนวนมาก ให้หันมาจัดการกับหนี้ที่มีอยู่ เริ่มจากดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรกดเงินสดก่อน อาจใช้ PAY LATER เป็นตัวช่วย เฉพาะใช้จ่ายอุปโภคบริโภคตราบเท่าที่จ่ายคืนไหว

อย่าให้การใช้ PAY LATER กลายเป็นการก่อหนี้ใหม่ซ้ำเติมหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดที่มีอยู่ แม้จะติดกับดักหนี้ แต่อย่าปล่อยให้กับดักหนี้ กลายเป็นหายนะทางการเงิน ที่ทำให้เครดิตถูกทำลาย

จะเห็นได้ว่า PAY LATER ไม่ต่างจากเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคล ที่มักจะได้ยินคำว่า “แม้มีประโยชน์อนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์” หากใช้ให้เกิดประโยชน์ก็ดี ไม่เกิดประโยชน์ก็เกิดโทษ จึงควรศึกษารายละเอียดจากข้อมูลผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายระบุไว้ใน Fact Sheet อย่างครบถ้วน

แม้เหตุผลในการใช้จ่ายของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เราคงไม่ปฏิเสธการเป็นหนี้ แต่หากใช้ PAY LATER เป็นเครื่องมือจับจ่ายใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยในยามที่สภาพคล่องทางการเงินหนาแน่น มีรายจ่ายมากกว่าปกติ ก็พอช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น