xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบผล คกก.กำกับแก้หนี้ ปชช.รายย่อย ก.ค.64-มี.ค.66 แก้ กยศ. 7.4 ล้านราย ครู-ตร. 1.8 หมื่นราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบสรุปผลการดำเนินการ คกก.กำกับแก้หนี้ ปชช.รายย่อย ก.ค. 64-มี.ค. 66 แก้หนี้กยศ.และผู้ค้ำ 7.4 ล.ราย แก้หนี้ครู-ตร. 1.8 หมื่นราย แก้ กม.ช่วยลูกหนี้ 13 ฉบับ และเพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-แก้ปัญหากู้หนี้นอกระบบ

วันนี้ (18 ก.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2564 - มีนาคม 2566 ที่ได้เน้นการดำเนินการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างหนี้/ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องคดีจำนวนมากและการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง และ (2) การกำหนดมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) ที่ไม่สร้างภาระด้านงบประมาณแต่ช่วยลดภาระการจ่ายหนี้ของประชาชนได้ และ ครม. ยังมีมติให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไปให้เกิดความเหมาะสมก่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

ความคืบหน้าผลการดำเนินการที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1. ช่วยเหลือลูกหนี้ให้เข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สิน 2. ปรับปรุงกฎหมาย และ 3. เพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรม โดยแต่ละด้าน มีความคืบหน้าโดยสรุปดังนี้

1. การช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สินได้ง่ายและเป็นธรรมยิ่งขึ้น อาทิเช่น (1) ช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. 4.6 ล้านราย และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านรายได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้นจากการปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 (2) การแก้ไขหนี้สินข้าราชการในกลุ่มข้าราชการครูและตำรวจให้สามารถเข้าถึงกลไกการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ การรับโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ การปรับลักษณะของหนี้จากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว การให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และการให้ระยะเวลาปลอดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นกลไกหลัก มีข้าราชการได้รับการแก้ไข/ปรับโครงสร้างหนี้ รวม 18,362 ราย และ (3) การจัดมหกรรมการแก้ไขหนี้สิน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างทั่วถึง ทั้งหนี้ครัวเรือน (กยศ. บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์) และหนี้สินครู

2. การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่สำคัญเพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้สิน และกำกับให้ธุรกิจสินเชื่อดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น โดยได้ขับเคลื่อนกฎหมาย กฎ และระเบียบที่สำคัญ รวม 13 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กฎหมายเพื่อกำกับธุรกิจดูแลที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ 5 ฉบับ เน้นการกำกับดูแลสินเชื่อที่ยังไม่มีการกำกับดูแล โดยให้ความสำคัญกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ การให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการทวงถามหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
 
กลุ่มที่ 2 กฎหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินและลดภาระที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม 5 ฉบับ เน้นการปรับปรุงกติกา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งลดภาระที่จะเกิดขึ้น เช่น หนี้ กยศ. ลดเบี้ยปรับจากเดิมร้อยละ 7.5 เหลือเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี และกำหนดลำดับการหักชำระหนี้โดยหักเงินต้นก่อนทำให้เงินต้นลดลงได้มากกว่ากรณีที่หักชำระเบี้ยปรับและดอกเบี้ยก่อน และให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้ และยังมีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

กลุ่มที่ 3 กฎหมายเพื่อบรรเทาปัญหาสำหรับประชาชนในภาวะวิกฤต 3 ฉบับ เน้นการบรรเทาปัญหาของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

3. การเพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรมให้กับประชาชน ได้เร่งจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อเสริมสภาพคล่องและลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ อาทิเช่น จัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด โดยธนาคารออมสินร่วมทุนกับองค์กรที่มีภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีก 2 แห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถนำที่ดินที่เป็นหลักประกันการกู้เงิน ในแบบจำนองหรือขายฝาก คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรกร้อยละ 6.99-8.99 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก พร้อมปลอดชำระเงินต้นนาน 1 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สิน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน เป็นช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกลง และลดดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (PICO Finance) สำหรับหนี้สินที่มีหลักประกัน จากร้อยละ 36 เป็นไม่เกินร้อยละ 33 คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขหนี้สินรายย่อยเพื่อประชาชนทั้งที่ผ่านมา และให้มีการดำเนินการต่อเนื่อง จึงได้วางแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไป อาทิเช่น 1. การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ภายหลัง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ 2. การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ให้ประชาชนเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ในวงกว้าง 3. การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เน้นการสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นกลไกช่วยเหลือการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ 4. การช่วยเหลือลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ เน้นการขยายขอบเขตความคุ้มครองผู้เช่าซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และการเพิ่มทางเลือกอื่น ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม โดยมีหลักประกันที่ชัดเจน 5. แก้ไขหนี้สินข้าราชการ เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน สร้างระบบสินเชื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ และขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมข้าราชการในวงกว้าง 6. ช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม เน้นการขยายขอบเขตและมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย และ 7. แก้ไขข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาและลดภาระและต้นทุนในการดำเนินคดี” น.ส.ทิพานัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น