xs
xsm
sm
md
lg

กาง 2 โจทย์ใหญ่ ศก.ไทย "หนี้ครัวเรือน-ภัยแล้ง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการ GDP ปี 66 ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่ -1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อน ซึ่งเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข

ขณะเดียวกัน ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 66 เป็น 2.25% จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 2.00% พร้อมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงมาเหลือ 1.8% จากเดิม 2.8% ส่วนค่าเงินบาทในปีนี้ยังคงประมาณการไว้ที่ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับโจทย์เรื่องภัยแล้งนั้น น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นอกจากภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ที่คิดเป็นมูลค่าราว 4.8 หมื่นล้านบาทในปีนี้แล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้อาจกดดันภาคการผลิตและบริการที่ใช้น้ำในสัดส่วนสูง ได้แก่ อโลหะ อาหาร สิ่งทอ ท่องเที่ยว โรงพยาบาล โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคกลาง ซึ่งมีโอกาสประสบกับสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อย หรือน้อยจนเข้าขั้นวิกฤต

นอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำอาจทำให้ธุรกิจต้องลดกำลังการผลิต หรือจำกัดการให้บริการ ส่งผลตามมาให้มีการสูญเสียรายได้ และสำหรับบางอุตสาหกรรมอย่างเช่น อาหาร ยังมีต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่จะสูงขึ้นด้วย ขณะที่ประเด็นข้อกังวลเพิ่มเติมคือ ภัยแล้งข้างต้นอาจลากยาวไปถึงปี 67 ด้วยโอกาสของความรุนแรงที่อาจมากกว่าในปี 66

สำหรับโจทย์เรื่องหนี้ครัวเรือนสูง น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ในช่วงปลายปีนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5-91.0% จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1/66 อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ดังกล่าวคงจะยังไม่ลดลงแตะ 80% ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank of International Sattlements : BIS) มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่มาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้หนี้ใหม่โตช้าลง และหนี้เก่าลดลงเร็วขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจภาวะหนี้สินครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 400 ตัวอย่าง ซึ่งย้ำภาพความน่ากังวลของปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย ขณะที่ลูกหนี้ที่ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนักปัจจัยด้าน "รายได้" ในการปิดหนี้อย่างยั่งยืน

ส่วนมาตรการแก้หนี้ของ ธปท. ที่จะเริ่มจากการแก้ไขหนี้เรื้อรัง (Persistent Debts) สำหรับลูกหนี้บุคคลที่มีลักษณะวงเงินหมุนเวียน (Revolving Personal Loans) ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้ลูกหนี้ผ่อนให้จบภายในเวลาราว 4 ปีนั้น คงมีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในวงจำกัด ในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เพียงแต่ลูกหนี้อาจต้องเตรียมตัวผ่อนชำระต่อเดือนในจำนวนที่สูงขึ้นกว่าเดิมนอกจากนี้

สุดท้ายแล้ว อยากเห็นรัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลหนี้ก้อนใหญ่ที่แก้ยากอย่างจริงจัง คือ เกษตร ครู และข้าราชการ (เฉพาะหนี้ครูและข้าราชการตำรวจมีสัดส่วนประมาณ 10.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด) รวมถึงหนี้ที่ย้ายออกจากระบบไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) อีกหลักแสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการที่เคยออกมาแล้วอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังประกอบด้วยหนี้บุคคล และหนี้ธุรกิจรายย่อย อันจะมีผลต่อความสามารถในการดำรงชีพของครัวเรือน และธุรกิจฐานรากของไทยในระยะข้างหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น