ธปท.เปิดหนี้ครัวเรือนซีรีส์ใหม่ เพิ่มหนี้ 4 ประเภท เพื่อให้ครอบคลุมหนี้ทุกส่วนของคนไทย ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทยไตรมาสแรกพุ่งขึ้นไป 90.6% ต่อจีดีพี จ่อออกมาตรการแก้หนี้วันจันทร์ที่ 3 ก.ค.นี้ ด้านเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นช้าๆ
นายสักกะภพ สัพันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.ยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยทุกตัวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว การลงทุน และการส่งออก รวมทั้งภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม ผลผลิตผลไม้มีการหดตัวลง ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และตั้งแต่ต้นปีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเมืองไทยอยู่ในหลัก 10 ล้านคนแล้ว ส่งผลให้เครื่องชี้ภาคบริการที่ดีขึ้นมาก ทั้งภาคการขนส่งผู้โดยสาร และภาคการค้า ธุรกิจโรงแรมปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่การใช้จ่ายโดยรวม หรือดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อนหน้า หรือ 7.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและราคาพลังงานที่ปรับลดลง โดยมีจุดหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ จำนวนผู้ทำงานในภาคผลิตที่ลดลง ส่งผลให้มีคนว่างงานส่วนนี้เพิ่มขึ้น การส่งออกไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.6% แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนลดลง 5.9% แต่เป็นการติดลบที่ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า แสดงให้เห็นการส่งออกที่เริ่มดีขึ้นบ้าง สอดคล้องกับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และการลงทุนภาคเอกชนดีขึ้นกว่าเดือนก่อน 5.4% เช่นกัน ตามการลงทุนด้านการก่อสร้าง และยอดจำหน่วยวัสดุก่อสร้างที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคเอกชนยังชะลอลงเล็กน้อย ขณะที่ ธปท.จับตาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงไม่มาก โดยเห็นราคาสินค้าหมวดอาหารพื้นฐานที่ยังเพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าในเดือน พ.ค.ขยายตัวลดลง 2.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน ดุลการค้าเกินดุล 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบริการขาดดุล 2,800 ล้านเหรียญ และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,800 ล้านเหรียญ แต่หากคิดตั้งแต่ต้นดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลเล็กน้อย
“มองภาพไปในเดือน มิ.ย.ภาคท่องเที่ยวและบริการปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ทิศทางการทยอยฟื้นตัวของการส่งออกเริ่มเห็นชัดขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีมากขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงมากจากเศรษฐกิจ ตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนสูง ผลจากค่าครองชีพที่สูงกระทบต่อการบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และความไม่แน่นอนทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลใหม่”
ทั้งนี้ นายสักกะภพ กล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจน ธปท.ปรับปรุงจำนวนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยให้ครอบคลุมในทุกส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้เพื่อการศึกษาที่ยังไม่เคยนำมารวม โดยเพิ่มได้เพิ่มวงเงินกู้ยืมในภาคครัวเรือน 4 กลุ่มเข้าในนิยามของหนี้ครัวเรือนรวม 776,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้กองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา 483,000 ล้านบาท หนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์อื่นที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ 265,000 ล้านบาท หนี้การกู้ยืมจากการเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท และหนี้ที่กู้ยืมจากพิโกไฟแนนซ์ 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 นี้อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
"เมื่อมีการปรับปรุงหนี้ครัวเรือน ซีรีส์ใหม่เราอาจจะเห็นจำนวนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นกว่าซีรีส์เก่า ซึ่งตัวเลขล่าสุด ไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 86.9% ของจีดีพี แต่เหตุผลที่ ธปท.จัดทำซีรีส์ใหม่เพราะต้องการให้ครอบคลุมหนี้ทั้งหมดที่คนไทยกู้ และพิจารณาแล้วว่าข้อมูลหนี้ที่เพิ่มเติมเข้ามามีความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องเข้าใจว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมานี้ไม่ได้เป็นหนี้ที่ก่อขึ้นใหม่ในไตรมาสที่ 1 นี้ แต่เป็นการกู้ยืมคงค้างอยู่แล้ว ในไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมามีการกู้ยืมหนีส่วนนี้แต่ยังไม่ได้เอาเข้ามารวม ซึ่ง ธปท.มองว่าการมีตัวเลขหนี้ที่ครอบคลุมหนี้จริงมากที่สุด จะช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถหาทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ดีขึ้น"
นายสักกะภพ กล่าวต่อว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงซีรีส์ของหนี้ครัวเรือน แต่โครงสร้างยังใกล้เคียงเดิม คือ ไตรมาสที่ 1 ปีนี้ หนี้ครัวเรือนเรือนชะลอจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วเล็กน้อย เพราะหากคิดตามซีรีส์เอาหนี้ 4 กลุ่มมารวมในไตรมาส 4 ปี 2565 ตามซีรีส์ใหม่หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มจาก 86.9% มาเป็น 91.4% ส่วนหากถามว่า ธปท.มีความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนหรือไม่ ต้องตอบว่า ธปท.กังวลต่อเนื่องอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการเพิ่มเติมมาตรการเพื่อดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นกังวลหรือไม่ ไม่ได้กังวลเพิ่มขึ้นมาก เพราะไม่ใช่หนี้ใหม่ แต่จะเร่งแก้ติดตามแก้ปัญหาใกล้ชิด