xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก พ.ค. 66 ลบน้อยลง ลดแค่ 4.6% ยอดรวม 5 เดือนยังวูบ 5.1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออก พ.ค. 66 มูลค่า 24,340.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.6% ดีขึ้นจากเดือน เม.ย.ที่ลบ 7.6% แต่ยังทำสถิติติดลบต่อเนื่อง 9 เดือนติด เผยสินค้าเกษตรลด 27% เหตุส่งออกผลไม้วูบหลังผลผลิตภาคตะวันออกหมด สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม 1.5% บวกครั้งแรกรอบ 8 เดือน ยอดรวม 5 เดือนยังลบ 5.1% คาดแนวโน้มไตรมาส 3 และ 4 ดีขึ้น หนุนทั้งปีโตตามเป้า 1-2%

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพ.ค. 2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.6% ดีขึ้นจากเดือน เม.ย. 2566 ที่ติดลบ 7.6% และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 830,448 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 26,190.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.4% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 904,563 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,849.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 74,115 ล้านบาท รวมการส่งออก 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 116,344.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 5.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 3,941,426 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 122,709.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 2.5% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 4,210,326 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 6,365.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 268,901 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกที่ลดลงมาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 16.3% โดยสินค้าเกษตรลด 27% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลด 0.6% เพราะส่งออกผลไม้ลดลงถึง 54.8% เนื่องจากผลผลิตภาคตะวันออกหมดแล้ว ต้องรอผลไม้ภาคใต้ที่กำลังออกสู่ตลาด มันสำปะหลัง ลด 41.7% ยางพารา ลด 37.2% อาหารสัตว์เลี้ยง ลด 23.8% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ลด 63% แต่น้ำตาลทราย เพิ่ม 44.3% ข้าว เพิ่ม 84.6% เครื่องดื่ม เพิ่ม 10.3% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 55.5% ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 28.9%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 1.5% กลับมาเป็นบวกในรอบ 8 เดือน สินค้าสำคัญที่เพิ่ม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่ม 8.3% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 10.2% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 87.7% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 53.7% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 22.9% และสินค้าที่ลดลง เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 26.8% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลด 4.8% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 6% เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ ลด 34.7% ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ลด 21.2%

ทางด้านการส่งออกไปตลาดสำคัญ ตลาดหลัก ลด 6% จากการลดลงของตลาดจีน 24% ญี่ปุ่น 1.8% CLMV 17.3% แต่สหรัฐฯ อาเซียน 5 ประเทศ และสหภาพยุโรป เพิ่ม 4.2% 0.1% และ 9.5% ตามลำดับ ตลาดรอง ลด 4.5% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 25.2% และละตินอเมริกา 7% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 11.4% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 11.2% แอฟริกา เพิ่ม 7.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 97.7% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 5.9% ส่วนตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 226% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 330.2%

ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม เดือน พ.ค. 2566 การค้ารวมมีมูลค่า 153,827 ล้านบาท เพิ่ม 4.94% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 89,396 ล้านบาท ลด 1.52% และนำเข้า มูลค่า 64,431 ล้านบาท เพิ่ม 15.44% เกินดุลการค้า 24,966 ล้านบาท โดยส่งออกชายแดนไป สปป.ลาวเพิ่มขึ้น แต่ส่งออกไปมาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชาลดลง และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์ และเวียดนาม เพิ่มขึ้น ส่วนยอดรวม 5 เดือน การค้ารวม มูลค่า 742,654 ล้านบาท เพิ่ม 4.85% เป็นการส่งออก 420,739 ล้านบาท เพิ่ม 4.26% และนำเข้า 321,915 ล้านบาท เพิ่ม 5.62% เกินดุลการค้า 98,824 ล้านบาท

นายกีรติกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 และ 4 น่าจะดีขึ้น หลังจากติดลบมาตลอดในช่วงก่อนหน้านี้ และจะช่วยให้การส่งออกภาพรวมตีตื้นขึ้นมาเป็นบวกได้ 1-2% ตามเป้าทำงานที่ตั้งไว้ โดยปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้า ที่ธนาคารโลกมีการประเมินใหม่เพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐฯ บวก 1.1% สหภาพยุโรป บวก 0.4% และจีน บวก 5.6% เป็นต้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และกระทรวงพาณิชย์มีแผนในการขยายตลาดเจาะ 7 ภูมิภาค และเจาะเป็นรายคลัสเตอร์ ซึ่งจะนำร่องกลุ่มอาหารและผลไม้ไปจีนตอนใต้ คือ ยูนนาน และหนานหนิง รวมทั้งจะบุกเจาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่ม CIS คาซัคสถานและประเทศใกล้เคียง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค. 2566 ดีกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ เดิมคาด 23,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ของจริง 24,340 ล้านเหรียญสหรัฐ และแม้การส่งออกไทยจะยังติดลบ แต่ก็ติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น และที่เหลืออีก 7 เดือน หากส่งออกได้เดือนละ 24,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เป้าทั้งปีจะอยู่ที่ 0% แต่ถ้าร่วมมือกันทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ขณะนี้มีการทำกลยุทธ์บุกตลาด 7 ภูมิภาค และรายคลัสเตอร์ จะช่วยให้ส่งออกทั้งปีเป็นบวกได้ ตัวเลข 1-2% เป็นไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน พ.ค. 2566 ที่ลดลง 4.6% เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 ที่ลดลง 4.4% พ.ย. 2565 ลด 6% ธ.ค.2565 ลด 14.6% ม.ค. 2566 ลด 4.5% ก.พ. 2566 ลด 4.7% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย. 2566 ลด 7.6%



กำลังโหลดความคิดเห็น