xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ศก.ครึ่งปีหลังซึมตามทิศทางโลก หวั่นตั้งรัฐบาลล่าช้า-ภัยแล้งซ้ำเติม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างฯ เกาะติดเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมองยังคงทรงตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ฉุดรั้งส่งออกไทยส่อเค้าติดลบหลัง เม.ย.ส่งออกลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 หวังพึ่งเพียงท่องเที่ยวแต่ก็ยังไม่เต็มที่ ขณะที่กังวลปัจจัยแทรกซ้อนซ้ำเติมทั้งการเมืองที่ไทยอาจตั้งรัฐบาลล่าช้า แถม ปัญหาภัยแล้งรอคิวถล่ม

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย 
เปิดเผยว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังของไทยภาพรวมยังคงทรงตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยซึ่งมีผลต่อการส่งออกของไทยสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกเดือน เม.ย. 66 ติดลบ 7.6% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ขณะเดียวกันยังมีตัวแปรจากความเสี่ยงที่จะเป็นปัจจัยเพิ่มเข้ามาจากการที่ไทยอาจจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่จะกดดันต่อผลผลิตภาคเกษตรของไทยในแง่ปริมาณที่ลดลงซึ่งจะกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่ประชาชนบริโภคโดยตรงและวัตถุดิบอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปให้มีต้นทุนเพิ่ม

“เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตไม่เกิน 2.1% จากปีก่อน แม้แต่เศรษฐกิจจีนเองยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ทำให้ความต้องการสินค้าจากทั่วโลกลดลง กระทบต่อส่งออกของไทยในปีนี้จะชะลอตัวลงซึ่งคาดว่าการส่งออกทั้งปีในรูปของเงินเหรียญสหรัฐอาจติดลบ 2-3% จากปีก่อน แต่บังเอิญค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าทำให้การส่งออกในรูปเงินบาทอาจติดไม่ติดลบหรือติดลบน้อยลงได้” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม การส่งออกปีนี้คงไม่ใช่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การท่องเที่ยวจะมีส่วนสำคัญหลังจากในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่ดับสนิทแต่เริ่มมีการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 30-35 ล้านคนทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ขณะที่ตลาดในประเทศเองต้องยอมรับว่าแรงซื้อของคนไทยยังคงต่ำจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ระดับประมาณ 15 ล้านล้านบาทซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงและบั่นทอนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

นายธนิตกล่าวว่า สิ่งที่กังวลที่เป็นปัจจัยแทรกซ้อนคือการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังคงไม่มีทิศทางชัดเจนว่าจะเป็นไปตามไทม์ไลน์หรือไม่เพราะหากยิ่งช้าออกไปเท่าใดก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติแล้วยังรวมถึงการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะล่าช้ากระทบต่อเม็ดเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน แม้จัดตั้งได้ก็ยังคงจะต้องติดตามทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ว่าจะมีหน้าตาอย่างไรและมีแนวทางจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไรเพราะภาพขณะนี้ยังคงไม่ชัดเจนแม้ว่าจะมีทั้งก้าวไกล และเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งก็ตาม

“ผมยังมองไม่เห็นถึงความชัดเจนหรือเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากนัก มีเพียงนโยบายก้าวไกลที่มุ่งจะทำ 100 วันซึ่งบางอย่างเช่นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันก็ไม่น่าจะใช้เวลา” นายธนิตกล่าว

ขณะเดียวกัน ปัญหาภัยแล้งที่ไทยเผชิญหน้ากับภัยแล้ง หรือเอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังปีนี้และยาวไปถึงปี 2568-69 ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นแนวโน้มกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรหลายรายการแล้ว และราคาอาหารจะเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่แผนบริหารจัดการจากภาครัฐยังไม่เห็นชัดเจนมากนักโดยเฉพาะในปี 2567 ที่อาจจะกระทบหนักขึ้นซึ่งเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนพัฒนาภาคเกษตรในอนาคตเพื่อรับมือ โดยเวียดนามล่าสุดได้มีการประกาศลดการส่งออกข้าวเหลือ 4 ล้านตันต่อปีตั้งแต่ปี 2573 เพื่อส่งเสริมส่งออกข้าวคุณภาพสูงป้องกันความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประเทศและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น