xs
xsm
sm
md
lg

กกร.คงกรอบ ศก.โต 3-3.5% หวังเร่งตั้งรัฐบาลภายใน ส.ค. รับยิ่งช้ายิ่งฉุดเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร.” ยังคงกรอบจีดีพีปี 2566 โต 3-3.5% และส่งออก -1% ถึง 0% หลังมองเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังชะลอตัว ท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องจักร ศก.หลัก หวังไทยจะมีรัฐบาลใหม่โดยเร็วสุดและเป็นไปตามไทม์ไลน์ใน ส.ค.หากเกินจากนั้นและมีม็อบส่อฉุดเศรษฐกิจที่จีดีพีอาจโตแค่ 2-2.5% วอนรัฐบาลรักษาการดูแลต้นทุนและค่าครองชีพประชาชน ผวาภัยแล้งกระทบ 3.6 หมื่นล้านซ้ำเติมเงินเฟ้อ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กกร.ประจำเดือน มิ.ย. 66 ยังคงกรอบการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2566 โต 3% ถึง 3.5% ส่งออก -1% ถึง 0% และเงินเฟ้อ 2.7 ถึง 3.2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจนกว่าประเทศใหญ่อย่างจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กกร.มีความคาดหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะแล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะหากล่าช้าก็จะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เดือนแรกเข้ามาสูงกว่า 8 ล้านคน และทั้งปีมีศักยภาพที่จะมากถึง 30 ล้านคนซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก ที่อาจทำให้การส่งออกปี 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” นายผยงกล่าว

สำหรับเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยท้าทาย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2% และมีแนวโน้มว่าจะยังปรับขึ้นต่อไปด้วยเหตุว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ กกร.มีความกังวลโดยเฉพาะในหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอาจถูกซ้ำเติมจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าในระยะข้างหน้า และยังรวมถึงแนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจปรับขึ้นเป็น 450 บาทต่อวันที่อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.82% ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยราคาดีเซลที่การลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5 บาทจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นี้ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งผู้ประกอบการ ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและครัวเรือน นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจซ้ำเติมต้นทุนผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ภายในเดือนสิงหาคมนี้เพื่อสร้างควาเชื่อมั่นต่อการลงทุนและการบริโภค โดยหากมีความล่าช้าออกไป 2-3 เดือนและเกิดสถานการณ์รุนแรง เช่น มีการประท้วง จะกระทบต่อกรอบการเติบโตของ GDP ที่อาจจะเหลือเพียง 2-2.5% ได้ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้รัฐบาลรักษาการอยากเห็นการออกมาตรการดูแลที่จะลดค่าครองชีพของประชาชนและดูแลต้นทุนผู้ประกอบการเพื่อให้ประคองตัวเองได้

"ตอนนี้ส่งออกเองติดลบติดต่อกัน 7 เดือนทำให้คำสั่งซื้อลดลง ภาคอุตสาหกรรมเอง 19 อุตสาหกรรมจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงต้องรักษาการผลิตเพื่อประคองการจ้างงาน เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ" นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งเป็นอีกประเด็นที่จะเข้ามากระทบระดับสูงในภาวะที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหา
เอลนีโญในปีนี้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท ซึ่ง กกร.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 31 พ.ค.เพื่อเร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้งอย่างเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น