กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ห่วงเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นกว่าที่คาด พร้อมติดตามนโยบายรัฐบาลมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มเงินเฟ้อขยับตังสูงขึ้นกว่าที่ธปท.ได้คาดการณ์ไว้
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% ในปี 2566 และขยายตัว 3.8% ในปี 2567 จากจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ธปท.ได้ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้เป็น 29 ล้านคน ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ด้านการส่งออกยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในครึ่งปีแรก แต่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชะลอลง แต่ยังมีทิศทางขยายตัว โดย ธปท.ได้ปรับเพิ่มประมาณการส่งออกของไทยทั้งปีนี้จากติดลบ 0.7% ในครั้งก่อนขึ้นมาเป็นติดลบ 0.1% รวมทั้งเพิ่มการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนในปีนี้ขึ้นไปที่ 4.4%
อย่างไรก็ตาม ได้ปรับลดประมาณการการผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภาครัฐลงจากประมาณการครั้งก่อน ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ได้ในระดับหนึ่ง หากเศรษฐกิจโลกชะลอลงน้อยกว่าที่คาด รวมทั้งการท่องเที่ยวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
แนวโน้มเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเสถียรภาพราคา แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ ธปท.ได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลงจาก 2.9% ในครั้งที่แล้วเหลือ 2.5% ในปีนี้ ขณะที่คงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.4% ในปี 2567 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน จากแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ธปท.ยังมีความกังวลคือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และในเดือนล่าสุด ยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.6% และมีแรงหนืดมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อยังคงค้างอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ธปท.คาดไว้ โดยในการประมาณการล่าสุด ธปท.คาดว่า เงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 2.0% และจะทรงตัวอยู่ที่ 2% ต่อเนื่องในปี 2567 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต
นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากเศรษฐกิจที่อาจจะขยายตัวดีกว่าคาด และเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับสูงนานต่อเนื่องอาจกระทบต่อพฤติกรรมการตั้งราคา และการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการที่ปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังต้องคงนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไปที่ยังมีความไม่แน่นอน และอาจจะส่งผลทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งได้ รวมทั้งทำให้ กนง. เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังเหมาะสม และเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
ระบุดอกเบี้ยยังอยู่ในข่วงขาขึ้น
นายปิติ กล่าวต่อว่า ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไปยังเป็นทิศทางที่ กนง.ดำเนินการ โดยในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้กลับมาเป็นบวก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจ การติดตามภาวะเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะต่อไป ซึ่ง กนง.พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ ยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งผลกระทบต่อภาระการผ่อนส่งของลูกหนี้ทั้งรายใหญ่ และรายย่อย โดยจากปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) กระทบต่อลูกหนี้ธุรกิจประมาณ 60% ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MLR) เริ่มกระทบต่อลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยทุกฝ่ายปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง และ กนง.มองว่าการเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องไป
ธปท.จับตานโยบายรัฐบาลใหม่ต่อเศรษฐกิจ
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.66 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 6.7% และส่งผลให้การใช้จ่ายขยายตัวตามไปด้วย โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 7.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับขึ้นมาต่อเนื่อง มากว่า 1 ปี และขึ้นมาอยู่ในช่วงเดียวกับก่อนโควิด-19 อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำ เดือน เม.ย.ปรับตัวลลดลง 6.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 8.8% และเครื่องชี้การลงทุนเอกชนที่ทรงตัวเท่ากับปีก่อน แต่ปรับลดลง 0.6% จากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่จากการสำรวจผู้ประกอบการ พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือน พ.ค.2566 โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยกดดันจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงและการเข้าสู่ช่วง Low Season ของภาคท่องเที่ยว โดยความเสี่ยงในระยะต่อไปจะต้องติดตาม คือ 1.เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง ซึ่งกระทบต่อการส่งออก 2.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อกาลังซื้อของผู้บริโภค และ 3.ความไม่แน่นอนของการจัดต้ังรัฐบาล และติดตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต