xs
xsm
sm
md
lg

KKP เตือน ศก.จีนไม่โตเหมือนเดิมกระทบไทย แนะหาแนวทางรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจจีนในปีนี้และในระยะต่อไปกำลังเผชิญความท้าทายอย่างมาก และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะไม่ได้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเหมือนทศวรรษที่ผ่านมา การฟื้นตัวที่แผ่วบางของจีนไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราวในระยะสั้น แต่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และเริ่มส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงนี้ โดยประเด็นที่น่ากังวล คือ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนสูงทั้งจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ทำให้การชะลอตัวของจีนในรอบนี้จะส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในระยะยาว

โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจรายเดือนในแต่ละด้านของจีนสะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของจีนยังซบเซา และกระจุกอยู่เฉพาะการบริโภคในภาคบริการเท่านั้น แม้ว่าตัวเลขยอดค้าปลีกและตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ทิศทางของการฟื้นตัวเริ่มมีทิศทางที่ชะลอลงต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นดัชนีการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจีนโดยมีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจกว่า 30% ของ GDP กำลังหดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยตัวเลขการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมหดตัวกว่า 21% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จึงมีเพียงเครื่องชี้วัดภาคการบริการที่แนวโน้มขยายตัวสวนทางกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของจีน

KKP Research ประเมินว่าการฟื้นตัวที่แผ่วบางของจีนไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราวในระยะสั้น แต่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจ หลายปัจจัยเชิงโครงสร้างกำลังสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ 1) ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังประสบปัญหาจากความเสี่ยงที่โครงการหลายแห่งไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสิ้นได้ โดยมีสาเหตุจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ในจีนมีการใช้รายรับจากยอด pre-sale หรือยอดขายก่อนที่โครงการจะสร้างเสร็จ จากโครงการใหม่มาใช้จ่ายในโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เมื่อยอด pre-sale ในจีนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้โครงการที่กำลังสร้างอยู่ต้องหยุดชะงัก และส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคถูกบั่นทอนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จนทำให้อัตราการออมในภาคครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนมีการลดสัดส่วนของการบริโภคและเพิ่มสัดส่วนของการออมมากขึ้น 2) ภาคการส่งออกที่กำลังถูกกดดันจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกและผู้ประกอบการสหรัฐฯกำลังลดสัดส่วนการนำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนในหลายประเด็นในช่วงที่ผ่านมา 3) อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มจบใหม่จากการชะลอตัวในภาคอสังหาฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เผชิญกับนโยบายภาครัฐที่เข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่รองรับการจ้างงานกลุ่มแรงงานจบใหม่
มาตรการกระตุ้นจะมีมากขึ้นแต่ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอทำให้ตลาดคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น และจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องได้ แต่ KKP Research ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นแบบเดิมโดยการอัดฉีดสภาพคล่องจะมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยลง เพราะปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยการชะลอตัวของการลงทุนเป็นผลมาจากการเติบโตของจีนที่พึ่งพาการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานมากเกินความต้องการของเศรษฐกิจจริง ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงเรื่อยๆ และมีการสะสมปริมาณหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการอัดฉีดสภาพคล่องจะช่วยบรรเทาปัญหาความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ แต่แนวโน้มการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะไม่สามารถเติบโตได้ดีเหมือนในอดีตจากอุปสงค์ที่แท้จริงที่กำลังหายไป

และประเมินว่านโยบายที่จะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากกว่า คือ นโยบายที่สนับสนุนให้ภาคการบริโภคเป็นเครื่องยนต์หลักของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับของรายได้ภาคครัวเรือนให้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐจีนได้เห็นถึงปัญหาของการพึ่งพาการลงทุนที่มากเกินไป และได้ประกาศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปีฉบับล่าสุดแล้วว่าจีนจะหันมาพึ่งพาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคการบริโภคและการพัฒนานวัตกรรมมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การปรับสมดุล (rebalance) เศรษฐกิจจีนโดยการเพิ่มบทบาทของการบริโภคภาคครัวเรือนจะยังเผชิญกับความท้าทายที่สูงและทำให้สำเร็จได้ยากในระยะสั้นจากหลายเหตุผล คือ 1) ปริมาณหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นจากสัดส่วนรายได้ครัวเรือนที่ลดลง 2) แรงกดดันต่อมูลค่าสินทรัพย์และรายได้ของครัวเรือนจากการชะลอตัวของภาคอสังหาฯ และภาคการส่งออก 3) นโยบายกระจายรายได้จะทำได้ยากหากเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวเพราะอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความขัดแย้งทางการเมือง และ 4) ภาคการบริโภคกำลังมีขนาดเล็กลงจากจำนวนประชากรหดตัว

จากการเติบโตที่ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ค่อนข้างมาก จากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนในสัดส่วนที่สูง โดยในระยะสั้น ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนจะทยอยกลับเข้ามาแต่ยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดและยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปี 2019 อยู่ค่อนข้างมาก โดยยังคงประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนจะยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่หากสถานการณ์ภายในเศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปีนี้อาจต่ำกว่าที่เราประเมินไว้ที่ 5 ล้านคน นอกจากนี้ ผลกระทบต่อไทยจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผลลบในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะสร้างความท้าทายในระยะยาวต่อธุรกิจไทยที่พึ่งพาตลาดของจีนสูงโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจไทยที่พึ่งพาภาคการลงทุนและภาคการส่งออกของจีนในสัดส่วนสูง หากเศรษฐกิจจีนไม่ได้เติบโตในระดับสูงเหมือนเดิม หรือมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น