ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อยังสูง อ้างเพื่อประเมินผลลัพธ์จากนโยบายการเงิน ทว่าในคำแถลงกลับส่งสัญญาณอาจกลับมาขึ้นดอกเบี้ยแรงอีกปลายปีนี้ ตรงกันข้ามกับแบงก์ชาติจีนซึ่งประกาศในวันพฤหัสบดี (15 มิ.ย.) ลดดอกเบี้ยสถาบันการเงินครั้งแรกในรอบ 10 เดือน หลังจากเพิ่งลดดอกเบี้ยระยะสั้นเมื่อ 2 วันก่อน สะท้อนว่าผู้วางนโยบายแดนมังกรกำลังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำท่าซบเซา
หลังจากขึ้นอัตราดอกเบี้ยนนโยบายระยะสั้น “เฟด ฟันด์ส เรต” อย่างต่อเนื่อง 10 ครั้งรวดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 รวมทั้งสิ้นเท่ากับขึ้นไปแล้ว 5% เฟดแถลงเมื่อวันพุธ (14) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยซึ่งคอยชี้นำตลาดตัวนี้เอาไว้ที่ 5-5.25%
ในการแถลงข่าวภายหลังการประกาศคงดอกเบี้ย เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดอธิบายว่า การเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในสหรัฐฯ อยู่ในสภาพดีเกินคาดถึงแม้อยู่ใต้ความกดดันของการใช้นโยบายการเงินแข็งกร้าวของเฟดในระยะเกือบปีที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มว่าเฟดจะสามารถใช้เวลานานขึ้นในการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ โดยที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก
เขายังบอกว่า การพักการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เอฟโอเอ็มซีมีเวลาประเมินข้อมูลเพิ่มเติมและผลลัพธ์จากนโยบายการเงินที่ผ่านมา
กระนั้น พวกสมาชิกของเอฟโอเอ็มซีก็ส่งสัญญาณว่า ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการคุมเข้มต่อไป จึงทำให้มีการคาดการณ์กันว่าภายในสิ้นปีนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50%
คำแถลงของเฟดระบุว่า แม้ใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวที่กำหนดเอาไว้ ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ว่า กิจกรรมเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ในระดับพอประมาณ
นอกจากนี้ เฟดยังคาดว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ ปีนี้จะอยู่ที่ 1% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ 0.4% ในเดือนมีนาคม ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.2% และอัตราเงินเฟ้อหลักที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวนง่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9%
ในอีกด้านหนึ่ง ขณะที่สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ ถูกบีบให้ขึ้นดอกเบี้ยหลายระลอกควบคู่กับการลดปริมาณเงินเพื่อรับมืออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน แต่สถานการณ์ของจีนเวลานี้กลับตรงกันข้าม โดยเมื่อวันพฤหัสฯ (15) ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) ที่เป็นแบงก์ชาติของแดนมังกร ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระยะปานกลาง (เอ็มแอลเอฟ - อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปีสำหรับสถาบันการเงิน) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน จาก 2.75% เหลือ 2.65%
นอกจากนี้ พีบีโอซียังเสนออัดฉีดกองทุนมูลค่า 33,000 ล้านดอลลาร์ให้แบงก์พาณิชย์ผ่านเอ็มแอลเอฟเพื่อรักษาสภาพคล่องที่เหมาะสมและพอเพียงในระบบการธนาคาร
คำแถลงนี้มีขึ้นหลังจากแบงก์ชาติจีนเพิ่งประกาศลดดอกเบี้ยระยะสั้นเมื่อวันอังคาร (13 ) ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า สะท้อนว่าผู้วางนโยบายกังวลมากขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ และขยับตัวแก้ไขด้วยการเพิ่มมาตรการกระตุ้น
ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยเอ็มแอลเอฟจะลดต้นทุนการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นให้แบงก์ปล่อยกู้มากขึ้น และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
ช่วงหลายสัปดาห์มานี้มีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ส่งสัญญาณว่า การฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดของจีนเริ่มอ่อนแรง ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนพฤษภาคมที่ขยับขึ้นแค่ 0.2% ขณะที่กิจกรรมของโรงงานหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และยอดส่งออกตกลงครั้งแรกนับจากเดือนกุมภาพันธ์
ล่าสุด ในวันพฤหัสฯ ยังมีการรายงานอัตราว่างงานในกลุ่มหนุ่มสาวที่พุ่งขึ้นทำสถิติที่ 20.8% ในเดือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการผลิตชะลอลงอยู่ที่ 3.5% และยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 12.7%
อัตราดอกเบี้ยของจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ ทว่า อัตราเงินเฟ้อที่เกือบเท่ากับ 0% ตอกย้ำความท้าทายที่จีต้องเผชิญในการพยายามกระตุ้นการเติบโต
หลิว หยวนชุน นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำและที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน เรียกร้องเมื่อเร็วๆ นี้ให้หน่วยงานกำกับดูแลลดดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อผ่อนคลายภาระทางการเงินของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก โดยมีรายงานว่า ปักกิ่งกำลังเตรียมมาตรการต่างๆ ซึ่งพุ่งเป้าที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วนสูงมากในจีดีพี
แต่นอกจากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว เศรษฐกิจจีนเวลานี้ยังถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ชี้ว่าผู้วางนโยบายในปักกิ่งอาจกังวลกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกเพิ่มเติม ขณะที่ธนาคารกลางชาติอื่นๆ ทั่วโลกกำลังขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกจากจีน โดยนับจากต้นปีถึงขณะนี้เงินหยวนอ่อนค่าลงเกือบ 4% ทำสถิติต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)