xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.จ่อออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนเดือนนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.จ่อออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 90% ต่อจีดีพีในเดือนนี้ รับหว่งหนี้อุปโภคบริโภคภาคครัวเรือน อาจจะทบภาพรวมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ภาคครัวเรือน พร้อมขยับเกณฑ์ชำระหนี้ต่อรายได้ เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงและป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ระบุแนวโน้มเศษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เตรียมขยับการผ่อนชำระค่างวดขั้นต่ำบัตรเครดิตเพิ่มเป็น 8% ปี 67 และ 10% ปี 68 เท่ากับช่วงก่อนโควิด

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิดและผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหนี้ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP โดยเพิ่มขึ้นจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว เช่น หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้สหกรณ์ หนี้การเคหะแห่งชาติ หรือฟิโกไฟแนนซ์ ดังนั้น ข้อมูลใหม่จะช่วยให้การกำหนดนโยบายหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมและตรงประเด็นที่สุด


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลชุดใหม่ หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4% ในขณะที่ยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (หนี้รหัส 21) ล่าสุดได้ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2565 แล้ว จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยจำนวนบัญชีของลูกหนี้รหัส 21 นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงสิ้นมีนาคม 2566 อยู่ที่ 4.4 ล้านบัญชี จากช่วงสูงที่สุดในเดือนตุลาคม 2565 ที่ 4.7 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ประมาณ 3.1 แสนล้านบาท จากเดือนตุลาคม 2565 ที่ 4.1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป NPL อาจทยอยปรับขึ้นบ้างจากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ก้าวกระโดด และเป็นระดับที่สถาบันการเงิน บริหารจัดการจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้


สำหรับสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิดนั้น พิจารณาพฤติกรรมของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา มีการจ่ายชำระค่างวดแบบเว้นงวดผ่อนรถเพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น ทำให้สินเชื่อรถยนต์จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกหนี้เปราะบางของ Non-Bank ขณะที่ NPL สินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอยู่ในระดับสูงเกิดจากลูกหนี้ที่มีปัญหาบางกลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ ธปท. เตรียมทยอยปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตจากปัจจุบันที่ 5% เป็น 8% ในปี 67 และ 10% (เท่ากับระดับก่อนโควิด) ในปี 68 โดย ธปท. เตรียมให้สถาบันการเงินเร่งสื่อสารการปรับเกณฑ์ดังกล่าวให้ลูกค้าและเตรียมการดูแลลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราการจ่ายได้โดยการโอนเปลี่ยนหนี้เป็นระยะยาวและกำหนดงวดจ่ายให้สอดคล้องกับความสามารถ ทั้งนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้


“หนี้ครัวเรือนที่ ธปท. ห่วงมากที่สุดคือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เพราะเป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ และการแก้จน การสร้างรายได้”


จ่อออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

น.ส.สุวรรณี กล่าวต่อไปว่า ธปท.มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยเตรียมออกออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ และร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

โดยแนวทางที่ ธปท. จะดำเนินการ คือ
กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ มีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้

กำหนดการปล่อยสินเชื่อและคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง

กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสูงการก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน

โดยในส่วนของการแก้หนี้ครัวเรือนแบบยั่งยืนจะมีการพิจารณาและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบโดยตรง รวมทั้งนำแนวทางนำมาใช้เพื่อพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท. จะสามารถออกมาตรการได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น