ฟิทช์ เรทติ้งส์ เชื่อว่าการเปิดรับสมัครผู้ที่จะยื่นขอใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ในประเทศไทยได้รับความสนใจและมีแนวโน้มที่ดี แม้ว่าจะได้มีการเลื่อนกรอบระยะเวลาออกไป อย่างไรก็ตามธนาคารใหม่ที่จะเข้ามาคงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมากและมีกำไรจากการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อจำกัดในด้านกฎหมายและหลักเกณฑ์ เช่น เพดานอัตราดอกเบี้นเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคล
ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งได้มีการประกาศเอกสารรับฟังความคิดเห็น (Consultation Paper) ฉบับปรับปรุง เกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank แม้ขั้นตอนในการดำเนินงานดังกล่าวมีความล่าช้าไปบ้างแต่ ณ ปัจจุบัน คาดว่าจะมีผู้ได้รับใบอนุญาต 3 ราย และผลการคัดเลือกน่าจะประกาศได้ภายในช่วงปลายปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะประกาศภายในช่วงกลางปี 2567
ทั้งนี้ ใบอนุญาต Virtual Bank น่าจะเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสสำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์รายเดิมสามารถที่จะขอใบอนุญาต Virtual Bank ได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ในการเติบโตแต่ในขณะเดียวกัน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินที่ดีเพียงพอ (underbanked) แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของธนาคารรายใหม่ในระบบน่าจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเงินฝากและสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อย
อย่างไรก็ตาม สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานโดยรวมยังไม่เอื้ออำนวยนักต่อการเติบโตที่รวดเร็วในระยะสั้น ภาคครัวเรือนยังคงมีหนี้สินที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 87% ณ สิ้นปี 2565 นอกจากนี้ สินเชื่อรายย่อยยังคงถูกจำกัดด้วยเพดานอัตราดอกเบี้ย ซึ่งได้ถูกปรับลดลงในช่วง Covid-19 มาเป็นไม่เกิน 16% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต และไม่เกิน 25% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ฟิทช์คาดว่าด้วยเพดานอัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน น่าจะเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
ฟิทช์คาดว่าจะมีทั้งธนาคารและบริษัทในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมขอใบอนุญาต โดยในระยะปานกลาง Virtual Bank รายใหม่น่าจะสามารถสร้างฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (niche) ภายในประเทศได้ ในขณะที่ยังจะช่วยส่งเสริมให้มีนวัตกรรมใหม่ในภาคธนาคารเพิ่มขึ้น ธนาคารรายใหม่จะเป็นโอกาสในการเติบโตสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาต ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศได้มีการหาช่องทางใหม่ในการเติบโตธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การขยายธุรกิจไปตลาดต่างประเทศและธุรกิจสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร