xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรไทยคงเป้าจีดีพี 3.7% ชี้ 3 โจทย์หลัก "การเมือง-ภัยแล้ง-หนี้ครัวเรือน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดมุมมองทิศทางเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2566 คงประมาณการจีดีพีปี 2566 ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่ -1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุนรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ขณะที่ห่วงภัยแล้งที่มีโอกาสรุนแรงกว่าคาด และหนี้ครัวเรือนที่ยังมีหนี้ก้อนยากรออยู่

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นภาพการขยายตัวที่ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยได้รับแรงหนุนจากฤดูกาลท่องเที่ยวที่สุดท้ายแล้ว คงจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 ที่ประมาณ 28.5 ล้านคน และทำให้คาดว่าจีดีพีในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวประมาณ 4.3% จากช่วงครึ่งปีแรกที่ประมาณ 3.0% อย่างไรก็ตาม ไทยจะเผชิญหลายโจทย์สำคัญที่ท้าทายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง โดยโจทย์แรก คือ การจัดตั้งรัฐบาล และการรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแรง ซึ่งย่อมเปิดประเด็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจอาเซียนและไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจีดีพีปี 2566 ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่ -1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อนซึ่งเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข

"แม้เราจะคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ 3.7% แต่ก็ให้น้ำหนักความเสี่ยงมาที่ปัจจัยการเมืองเป็นเรื่องหลักในขณะนี้ โดยจะต้องติดตามผลการโหวตการเลือกนายกรัฐมนตรีในแต่ละครั้งคือวันที่ 13 19และ 20 กรกฎาคมนี้ ซึ่งผลที่จะออกมามีได้หลายหน้ามาก โดยผลการโหวตในแต่รอบสะท้อนมุมมองของสภา จึงต้องรอประเมินผลในแต่ละครั้งไปในกรณีที่โหวตไม่ผ่านเลย ตรงนี้ค่อนข้างจะส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะภาคเอกชนต่างๆ ยังรอตรงนี้อยู่ รวมถึงงบประมาณด้านการลงทุนของภาครัฐจะกระทบไปด้วย ซึ่งหากกรณีเลวร้ายอย่างที่สภาอุตสาหกรรมไทย (สอท.) ประเมินจีดีพีไว้จะอยู่ที่ประมาณ 2.5% ก็เป็นได้ เนื่องจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าปีนี้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ปัจจัยหลักที่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยฉุดรั้งเป็นการส่งออก ส่วนประเด็นรองลงมาเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณชัดเจนขึ้น"

**เตือนภัยแล้งทำเกษตรเสียหาย 4.8 หมื่นล้าน**
โจทย์ถัดมา คือ เรื่องภัยแล้ง โดย น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า นอกจากภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่อาจคิดเป็นมูลค่าราว 4.8 หมื่นล้านบาทในปีนี้แล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้ อาจกดดันภาคการผลิตและบริการที่ใช้น้ำในสัดส่วนสูง ได้แก่ อโลหะ อาหาร สิ่งทอ ท่องเที่ยว โรงพยาบาล โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งมีโอกาสประสบกับสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อย หรือน้อยจนเข้าขั้นวิกฤต นอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำอาจทำให้ธุรกิจต้องลดกำลังการผลิตหรือจำกัดการให้บริการ ส่งผลตามมาให้มีการสูญเสียรายได้ และสำหรับบางอุตสาหกรรมอย่างเช่นอาหาร ยังมีต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่จะสูงขึ้นด้วย ขณะที่ ประเด็นข้อกังวลเพิ่มเติมคือ ภัยแล้งข้างต้น อาจลากยาวไปถึงปี 2567 ด้วยโอกาสของความรุนแรงที่อาจมากกว่าในปี 2566

สำหรับโจทย์สุดท้าย คือ หนี้ครัวเรือนสูง โดยน.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดมองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5-91.0% ในช่วงปลายปีนี้ จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2566 อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ดังกล่าวคงจะยังไม่ลดลงแตะ 80% อันเป็นระดับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank of International Sattlements : BIS) มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่มาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้หนี้ใหม่โตช้าลง และหนี้เก่าลดลงเร็วขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจภาวะหนี้สินครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 400 ตัวอย่าง ซึ่งย้ำภาพความน่ากังวลของปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย ขณะที่ลูกหนี้ที่ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนักปัจจัยด้าน ‘รายได้’ ในการปิดหนี้อย่างยั่งยืน ส่วนมาตรการแก้หนี้ของ ธปท. ที่จะเริ่มจากการแก้ไขหนี้เรื้อรัง (Persistent Debts) สำหรับลูกหนี้บุคคลที่มีลักษณะวงเงินหมุนเวียน (Revolving Personal Loans) ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 25% มาที่ 12% เพื่อให้ลูกหนี้ผ่อนให้จบภายในเวลาราว 4 ปีนั้น คงมีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในวงจำกัด ในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย หรือกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยประมาณ 4,300-4,700 ล้านบาท และ 0.02-0.03% ต่อ NIM แต่อย่างไรก็ตาม ในแนวทางดังกล่าวผู้กู้จะต้องมีภาระการผ่อนชำระค่างวดเพิ่มขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 10% ลูกหนี้อาจต้องเตรียมตัวผ่อนชำระต่อเดือนในจำนวนที่สูงขึ้นกว่า 24.6% ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าโครงการนี้จึงต้องตระหนักถึงภาระรายเดือนที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ สุดท้ายแล้วคงอยากเห็นรัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลหนี้ก้อนใหญ่ที่แก้ยากอย่างจริงจัง คือ เกษตร ครู และข้าราชการ (เฉพาะหนี้ครูและข้าราชการตำรวจมีสัดส่วนประมาณ 10.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด) รวมถึงหนี้ที่ย้ายออกจากระบบไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) อีกหลักแสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการที่เคยออกมาแล้วอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังประกอบด้วยหนี้บุคคลและหนี้ธุรกิจรายย่อย อันจะมีผลต่อความสามารถในการดำรงชีพของครัวเรือนและธุรกิจฐานรากของไทยในระยะข้างหน้า

"กลุ่มหนี้ก้อนใหญ่ที่แก้ยากมีมูลค่าไม่น้อย แต่มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือมีมาตรการอุดหนุนมากนัก แต่จากตัวเลขหนี้เสียที่ AMC เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับแต่ปี 60 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการขายหนี้เสียออกมาจากสถาบันการเงิน ซึ่งกลุ่มนี้หากไม่สามารถแก้ไขได้จะกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ยาก"
กำลังโหลดความคิดเห็น