“หนี้”เป็นคำที่แสลงหูแสลงตา ใครฟังก็ผวา เป็นคำที่เข้าถึงทุกกลุ่มทุนชนชั้น เพราะการดำเนินชีวิตต้องมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทาง”ตรง”ที่ก่อหนี้เองเรียกว่า”หนี้ครัวเรือน” และทาง”อ้อม”ที่รัฐบาลก่อหนี้ให้ เรียกว่า”หนี้สาธารณะ” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่มีมายาวนาน ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น จึงเป็นภาระของรัฐบาลและภาคครัวเรือนเพิ่มขึนตามไปด้วย จึงเป็นระเบิดเวลาเร่งความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทย รัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ภาคครัวเรือนพุ่ง เป็นปัญหาการใช้จ่าย ลามมาถึงการค้างชำระหนี้เป็นเอ็นพีแอล กลับมาเป็นผลเสียกับสถับนการเงินและระบบการเงินไทย เป็นความท้าทายรัฐบาลใหม่และเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า รัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ จากระดับหนี้ที่ปรับสูงขึ้นมากหลังวิกฤตโควิด-19 การขาดดุลทางการคลังเชิงโครงสร้างตลอด 15 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีแนวโน้มจะแย่ลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้าง
รัฐบาลมีการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้าง (structural deficit) คือ ขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 15 ปี ซึ่งขนาดของการขาดดุลการคลังทั้งหมดเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2010 อยู่ที่ปีละ 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และทำให้ยอดหนี้สาธารณะของไทยเติบโตขึ้นทุกปีปีละประมาณ 7-8% ซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะของไทยอาจแบ่งได้เป็น 3 ข้อ คือ 1) การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ จากขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) ที่มีขนาดใหญ่ แรงงานส่วนมากประกอบอาชีพอิสระและอยู่นอกระบบภาษี อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับประเทศอื่น 2) สัดส่วนรายจ่ายประจำอยู่ในระดับสูง ขณะที่งบลงทุนมีสัดส่วนเพียง 20% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น สะท้อนว่าการจัดสรรงบประมาณของไทยอาจมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้น้อย 3) การขาดดุลการคลังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งการเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาลที่จะลดลง โดยเฉพาะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล และรายจ่ายของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายในหมวดสังคมสงเคราะห์
ผลกระทบหากไม่มีวินัยการคลัง
ประสบการณ์ของหลายประเทศในอดีตชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงและการขาดวินัยทางการคลังอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการคลัง (fiscal space) ลดลง ซี่งที่ผ่านมาระดับหนี้สาธารณะของไทยไม่เคยปรับลดลงสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตได้เลย และหากเทียบกับช่วงโควิด ที่รัฐบาลต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ของ GDP ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่สามารถมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่หากเกิดวิกฤตขึ้นอีกในอนาคต 2) ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลที่อาจปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีการก่อหนี้สูง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่มีแผนการชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง 3) การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย การอ่อนค่าของค่าเงิน และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะประเทศที่มีการกู้ยืมหนี้สกุลต่างประเทศสูงและประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ามาก
ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น เร่งปัญหาหนี้สาธารณะ
นโยบายที่เพิ่มค่าใช้จ่ายและการขาดดุลการคลังเช่นนโยบายการให้เงินอุดหนุน จะยิ่งสร้างต้นทุนต่อภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะ โดยถึงแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่จะสร้างภาระผูกพันระยะยาวให้กับรัฐซึ่งทำให้การปรับลดระดับหนี้สาธารณะในอนาคตทำได้ยากขึ้น โดยคำนวณผลกระทบของการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายสวัสดิการต่าง ๆ และนโยบายการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นพบว่า การดำเนินนโยบายรูปแบบดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะแตะระดับเพดานหนี้ 70% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ขณะที่การปฏิรูปรายรับรายจ่ายอาจช่วยลดภาระต่อหนี้สาธารณะได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้
ความท้าทายที่เพิ่มขึ้น
รัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ โดยนอกจากระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะมาซ้ำเติมการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้างแล้ว ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะของไทยเลวร้ายลงไปอีก โดยความท้าทายทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำความสำคัญของนโยบายรัฐที่จะต้องมุ่งเน้นการเพิ่มการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว การลดการขาดดุลเชิงโครงสร้าง รวมถึงควรมีการดำเนินการอย่างทันทีและต่อเนื่อง เพราะปัญหาหนี้สาธารณะอาจมาเร็วกว่าที่คิดและการแก้ปัญหาก็อาจใช้เวลานานกว่าที่หลายคนคาดเช่นกัน
หนี้ครัวเรือนทะลุ 16 ล้านล้านบาท พุ่งแตะ 90.4 % ของ GDP
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท)ปรับปรุงจำนวนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยให้ครอบคลุมในทุกส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้เพื่อการศึกษาที่ยังไม่เคยนำมารวม โดยเพิ่มได้เพิ่มวงเงินกู้ยืมในภาคครัวเรือน 4 กลุ่มเข้าในนิยามของหนี้ครัวเรือนรวม 776,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้กองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา 483,000 ล้านบาท หนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์อื่นที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ 265,000 ล้านบาท หนี้การกู้ยืมจากการเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท และหนี้ที่กู้ยืมจากพิโกไฟแนนซ์ 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้หนีี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 นี้อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
การปรับปรุงหนี้ครัวเรือน ซีรี่ย์ใหม่จะเห็นจำนวนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นกว่า ซี่รี่ย์เก่า ซึ่งตัวเลขล่าสุด ไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 86.9 % ของจีดีพี แต่เหตุผลที่ ธปท.จัดทำซีรีย์ใหม่เพราะต้องการให้ครอบคลุมหนี้ทั้งหมดที่คนไทยกู้ และพิจารณาแล้วว่าข้อมูลหนี้ที่เพิ่มเติมเข้ามามีความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องเข้าใจว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมานี้ไม่ได้เป็นหนี้ที่ก่อขึ้นใหม่ในไตรมาสที่ 1 นี้ แต่เป็นการกู้ยืมคงค้างอยู่แล้ว ในไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาก็มีการกู้ยืมหนีส่วนนี้แต่ยังไม่ได้เอาเข้ามารวม ซึ่งธปท.มองว่าการมีตัวเลขหนี้ที่ครอบคลุมหนี้จริงมากที่สุด จะช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถหาทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ดีขึ้น
จ่อออกมาตราการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนปลายเดือน ก.ย.นี้
ธปท. ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิดและผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหนี้ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด NPL อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL cliff และเป็นระดับที่ สง. บริหารจัดการได้ สอดคล้องกับมุมมองของ Rating agencies ต่อภาคธนาคารไทยที่ยังมั่นคง อีกทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้ สำหรับสินเชื่อรถยนต์ ที่จัดชั้น stage 2 (SM) ที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด ไม่จำเป็นว่าจะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด ดูได้จากพฤติกรรมของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าอาจเว้นงวดผ่อนรถเพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น ทำให้โดยทั่วไป SM ของสินเชื่อรถยนต์จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น กำชับ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้
ธปท. จะเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ และร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยแนวทางที่ ธปท. จะดำเนินการ คือ
(1) เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ มีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้
(2) กลไก Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง
(3) มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสูงการก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR) ทั้งนี้ สำหรับแผนการนำมาใช้ในส่วนของ RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยมาตรการ RBP สำหรับในเรื่อง MAPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ต่อไป
การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ และการแก้จน สร้างรายได้ เป็นต้น