xs
xsm
sm
md
lg

กกร.หั่นส่งออกไทยปีนี้โตเหลือแค่ -2 ถึง 0% หวังตั้งรัฐบาลเร็วหนุน ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กกร.” ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2566 ไทยยังคงโต 3-3.5% จากท่องเที่ยวหนุน แต่หั่นกรอบการเติบโตส่งออกลดลงเป็น -2% ถึง 0% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกดดันการส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อเหลือเป็น 2.2% ถึง 2.7% จากทิศทางพลังงานลด ลุ้น กกพ.เคาะค่าไฟงวดใหม่เหลือเฉลี่ย 4.25 บาทต่อหน่วย หวังจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วหนุน ศก.เพิ่ม

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 
ที่ประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กกร.ประจำเดือน ก.ค. 66 ยังคงกรอบประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2566 โต 3% ถึง 3.5% แต่ปรับตัวเลขการส่งออกลดลงจากเดิม -1% ถึง 0% เป็น -2% ถึง 0% และปรับเงินเฟ้อจากเดิม 2.7% ถึง 3.2% เป็น 2.2% ถึง 2.7% ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงมากในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตหลักๆ มาจากการท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะขึ้นไปถึง 29-30 ล้านคน ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อ GDP ทำให้ผู้บริโภคมีข้อจำกัดและระวังการใช้จ่าย ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตก ส่วนเงินเฟ้อนั้นยังคงมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง และค่าแรงในระยะต่อไป แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำลงจากที่ประเมินไว้เดิมตามทิศทางราคาพลังงาน” นายผยงกล่าว

ทั้งนี้ กกร.มองว่าตลาดการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวในการขับเคลื่อนประเทศตอนนี้โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐจึงควรให้ความสำคัญในการออกหนังสือเดินทางให้เร็ว ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ฯลฯ ขณะที่เครื่องยนต์อีกตัวคือการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งการเร่งการใช้จ่ายและการจัดทำงบประมาณเป็นเรื่องเร่งด่วน การจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วและราบรื่นจึงสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐไม่สะดุด

อย่างไรก็ตาม กกร.มีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ระดับสูงมาต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมที่จะพิจารณาประกาศในงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 66) ที่เห็นว่าปัจจัยในการนำมาคำนวณมีทิศทางเป็นบวกที่จะทำให้ค่าไฟลดลงได้กว่า 10% จากงวด พ.ค.-ส.ค. 66 และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วยจากขณะนี้ค่าไฟเฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย เช่น ก๊าซอ่าวไทยจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มขึ้นจาก 200 เป็น 600 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลดลง ราคา LNG ลดมากกว่า 30% ราคาพลังงานโลกลดลง และหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวด 1-2 ลดลงเร็วกว่าแผน เป็นต้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนยังคงคาดหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลหรือมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช้าสุดไม่เกิน ส.ค.นี้ โดยหากตั้งได้เร็วก็จะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะด้านงบประมาณต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากการจัดตั้งยิ่งช้าออกไปเท่าใดก็จะยิ่งกระทบเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวที่ปลายปีจะเป็นช่วงไฮซีซัน

“ขณะนี้ภาคส่งออกเราชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทำให้ ส.อ.ท.เองพบว่า 25 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกต้องลดกะการทำงานลง แต่เราก็คาดหวังว่าในไตรมาส 4 นี้คำสั่งซื้อจะกลับมาก็จะทำให้ดีขึ้น แต่ภาพรวมส่งออกก็ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น