xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT เปิดมุมมองโอกาส-ความท้าทายเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 คาดจีดีพีโตเฉียด 3%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 มีโอกาสจะขยายตัวได้ 3.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมองว่าไตรมาส 4 มีโอกาสจะเติบโตเฉียด 5% เพราะฉะนั้นมองภาพเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเร่งแรง มาจาก 3 ปัจจัย

- จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นเร็วกว่าที่คาด และฟื้นเร็วกว่าที่เห็นช่วงครึ่งแรกของปี ไม่ว่าจะเป็นหลายประเทศที่เริ่มกลับมามีจำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ยุโรป รัสเซีย อย่างไรก็ดี ต้องรอจำนวนนักท่องเที่ยวจีนให้มากกว่านี้ แต่เชื่อว่าโอกาสที่จะกลับมามีมากขึ้น ผลดีน่าจะมีต่อธุรกิจบริการกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง (สายการบิน) ค้าปลีก โดยเฉพาะตลาดบน เช่น โรงแรมขนาด 4 ดาวขึ้นไป และน่าจะเห็นการกระจายตัวมากกว่าในกรุงเทพฯ และภูเก็ตออกไปเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น พัทยา สมุย กระบี่ เป็นต้น

- ภาคการส่งออกที่น่าจะพลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากติดลบต่อเนื่องในช่วงต้นปี เห็นภาพการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ชิ้นส่วนน่าจะสนับสนุนให้เกิดภาคการลงทุนที่ดีขึ้น การจ้างงานที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งสนับสนุนภาคการบริโภคอีกทอดหนึ่ง โดยกลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีในช่วงไตรมาส 3 น่าจะอยู่ในกลุ่มอาหารแปรรูปและเกษตรแปรรูป โดยได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศจีนเป็นสำคัญ

- ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่น่าจะทรงตัว หรือกลับมาย่อลงเล็กน้อย ตามปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตช้าลง โดยราคาน้ำมันที่ย่อลงน่าจะเป็นส่วนที่ช่วยลดค่าครองชีพให้คนในประเทศ สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มที่จะทรงตัวและลดลงต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งน่าจะช่วยลดต้นทุนภาคการเกษตรจากราคาอาหารสัตว์ที่ลดลงและภาคการก่อสร้างจากราคาวัสดุต่างๆ ที่ทรงตัวได้ แต่อาจไม่มากเพราะปัญหาภัยแล้งจากสภาวะเอลนีโญ (El Nino)

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 มีความเสี่ยงที่อาจทำให้การฟื้นตัวสะดุดได้ ด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่
- ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล อาจจะมีความล่าช้า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คือ ต่างชาติ wait and see รอดูก่อน ก่อนที่จะกลับมาลงทุนในประเทศไทย อาจจะทำให้ไทยเสียโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ในอุตสาหกรรมสำคัญๆ บางครั้งเราอาจเสียโอกาสในการเร่งเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับชาติยุโรป หรือชาติคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยพิจารณาย้ายฐานไปเวียดนามหรือประเทศอื่นได้ หากสถานการณ์ของเรายังไม่มีการเอื้อให้เกิดประโยชน์จากการตั้งฐานการผลิตในประเทศ นอกจากนี้ งบการใช้จ่ายภาครัฐ งบการลงทุนภาครัฐอาจลดลงต่อเนื่องได้ กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศ เมื่อเอกชนไทยยังไม่เห็นโครงการลงทุนภาครัฐใหม่ๆ เอกชนอาจชะลอการก่อสร้างและกระทบภาคส่วนนี้ เว้นคอนโดมิเนียมระดับ 3 ล้านบาทตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ยังไปต่อได้

- เศรษฐกิจโลกชะลอโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน เราเห็นภาพการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่เร่งแรงช่วงไตรมาส 1 ที่ 4.5% หลังจีนเปิดเมือง คนเร่งบริโภค แต่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งภาคการส่งออกที่พลิกกลับมาติดลบ ภาคการผลิตที่เริ่มเติบโตช้าลง รวมทั้งการใช้จ่ายของคนในประเทศเองไม่ได้แข็งแรงเหมือนต้นปี ภาครัฐเองเริ่มหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดดอกเบี้ยช่วงที่ผ่านมาอาจพอพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ภาพเศรษฐกิจจีนที่เสี่ยงจะชะลอลง ปัญหาสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ พยายามกดดันไม่ให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีนัก โดยเฉพาะการส่งออกของจีนในอนาคตและอาจมีแรงกดดันในภาคการผลิตของจีนอยู่ ซึ่งผลต่อภาคการส่งออกและการผลิตของจีนที่โตช้าจะกดดันภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้

- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อลากยาว เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อมีแรงกดดันในระดับที่สูงอยู่ เงินเฟ้อที่หักจากราคาพลังงานและราคาอาหาร (core inflation) ยังลดลงค่อนข้างช้า ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะมีความจำเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยอาจไม่ได้ขึ้นทุกรอบการประชุมหรืออาจจะขึ้นแล้วหยุดชั่วคราวก็ตาม ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าที่ตลาดคาดกันไว้ที่ระดับ 5.75% และโอกาสในการลดดอกเบี้ยในปีนี้อาจจะหายไป น่าจะเกิดโอกาสที่เงินทุนจะเคลื่อนย้ายออกจากไทยกลับไปสู่สหรัฐฯ กระทบให้เงินทุนผันผวน และทำให้บาทอ่อนค่าแตะระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กระทบกับค่าครองชีพในประเทศได้อีกทอดหนึ่ง ขณะที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยมีโอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อประคองแรงกดดันเงินเฟ้อในอนาคต แต่อาจมองว่าเรายังไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนสิงหาคม แต่อาจเว้นวรรคเพื่อรอความชัดเจนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายทางการเมือง รวมทั้งประเมินผลกระทบจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่ยังมีอยู่ ก่อนจะปรับนโยบายทางการเงินในลำดับถัดไปในเดือนกันยายนสู่ระดับ 2.25%

“โดยรวมเรามองว่าการที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 จะฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งจะเห็นสัญญาณฟื้นตัวได้ชัดเจนในไตรมาส 4 ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าโอกาสของการฟื้นตัวน่าจะเป็นเชิงบวกที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.3% ตามคาด” นายอมรเทพ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น