ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า ขยับแตะเกณฑ์ "ทรงตัว" คาดหวังจัดตั้งรัฐบาล และการท่องเที่ยวฟื้น ขณะความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาล และความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุด
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า SET Index ในครึ่งแรกของเดือน มิ.ย.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นโลก โดยได้รับแรงหนุนจากการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งหลังของเดือน SET Index ปรับตัวลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกจากความกังวลต่อปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ไม่มีความชัดเจน ปัญหากรณี บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน รวมถึงแรงขายสุทธิต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลกหลังเฟดประกาศจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps
ปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้ SET Index หลุดกรอบ 1,500 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ก่อนกลับมาปิดที่ 1,503.10 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 โดยปรับตัวลดลง 2.0% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,623 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 8,616.88 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 105,622.96 ล้านบาท
ขณะปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การส่งสัญญาณของเฟดที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักอีกหลายประเทศ เช่น ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง
ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎร และความมีเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคการส่งออกของไทยที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน 2566) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (ช่วงค่าดัชนี 80-119) เพิ่มขึ้น 5.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 81.62
ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว"
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ (STEEL)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล
ผลสำรวจรายกลุ่มนักลงทุน พบว่า มีเพียงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น 33.3% อยู่ที่ระดับ 100.00 ในขณะที่กลุ่มอื่นปรับลดลง โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 10.6% อยู่ที่ระดับ 65.81 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลง 50.0% อยู่ที่ระดับ 50.0 และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 6.5% อยู่ที่ระดับ 85.71