ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ฉายฉากทัศน์เศรษฐศาสตร์การลงทุนในประเทศไทย ผ่านนโยบายรัฐบาลใหม่ ชี้ "เสถียรภาพ" เป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดเส้นทางให้เอกชนและตลาดทุนสามารถเดินไปข้างหน้าได้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในงานสัมมนา "Investment Forum : New Chapter, New Opportunity" ที่จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งประเด็นหลักที่ต้องจับตา โดยหลากนับย้อนกลับไปดูเม็ดเงิน (Fund Flow) ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 2566 มีเงินไหลออกอยู่ที่ -2,917.8 ล้าน USD ในทางตรงกันข้ามกับตลาดตราสารหนี้ที่มีเงินไหลเข้าอยู่ที่ +675.9 ล้าน USD
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้หุ้นไทยมีเงินไหลออก และทำผลงานได้ไม่ดี เนื่องจากถ้าย้อนไปดูข้อมูลในปีที่แล้วจะพบว่า ไทยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ทำผลงานได้ดี โดยที่ SET Index บวก 0.7% ในขณะที่สหรัฐฯ NASDAQ ติดลบ 33.1% เวียดนาม VN Index ติดลบ 32.8% รวมทั้งฮ่องกง จีน ทุกคนติดลบหมดเลย
เจ้าลึกเข้าไปในสาเหตุนั้นว่าทำไมปีที่แล้ว “เงินไหลเข้า” ตลาดหุ้นไทย
สาเหตุเป็นเพราะปีที่แล้วนักลงทุนต่างมองหาหลุมหลบภัย (Safe Haven) เนื่องจากมีมรสุมการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ของโลกในรอบ 40 ปี ไม่ว่าจะนำเงินไปอยู่ที่ไหนก็เสียหาย แม้กระทั่งในตลาดพันธบัตรรัฐบาลก็ตาม ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยจึงถูกมองว่าเป็นหลุมหลบภัย เพราะยังเป็นบวกอยู่ได้ นักลงทุนจึงพากันใช้ตลาดหุ้นไทยเป็นหลุมหลบภัยนั่นเอง
แต่ทำไมปีนี้ “เงินไหลออก” จากตลาดหุ้นไทย
ต้องบอกว่า ณ วันนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว มรสุมได้พัดผ่านไปแล้ว ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นของประเทศต่างๆ กำลังคึกคัก หมายความว่า คุณค่าของหลุมหลบภัยได้หมดไปเช่นกัน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินไหลออกจากไทย เพราะนักลงทุนต้องการไปแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมกว่า
ทำยังไงให้ไทยมีเสน่ห์ที่จะดึงดูดเงินให้เข้ามาในประเทศ
ในเรื่องนี้ ดร.กอบศักดิ์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่ามี 3 ความท้ายทายรออยู่ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ได้แก่
(1) รักษาแรงส่งของเศรษฐกิจ
เช่น เน้นส่งออกไปที่จีน เพราะประเทศจีนกำลังฟื้นตัวจาก COVID-19 และเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมายอดการส่งออกของไทยลดลงในทุกประเทศ แต่กลับกัน การส่งออกไปประเทศจีนมีเพิ่มขึ้น
รวมทั้งต้องมีการปลดล็อกเรื่องการท่องเที่ยว เร่งรัดโครงการลงทุนภาครัฐต่างๆ ที่อนุมัติไปแล้ว และดูแลค่าเงินบาทให้อ่อน เพราะถ้าเงินบาทแข็งเกินไปจะกระทบภาคเกษตร ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว
(2) สร้างอนาคตให้ประเทศ
ต้องลดอุปสรรคต่างๆ ทางกฎหมาย (Regulatory Guillotine) ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ สร้าง Startup - Hub for ASEAN ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนอย่างแท้จริง ก้าวขึ้นไปบน New S-Curve รวมทั้งให้สานต่อโครงการที่มีอยู่อย่างการเดินหน้าเรื่องพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ EEC และ SEC
(3) พัฒนาอย่างสมดุล ลดความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท
เน้นการสร้างความเข็มแข็งจากฐานราก เน้น Empower ส่งเสริมประชาชน และพัฒนาให้เขายืนบนขาของตัวเองได้ เพราะการแจกเงินไม่ใช่คำตอบ
ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่าหัวใจสำคัญคือ ความมีเสถียรภาพ เพราะไม่ว่าจะยังไงก็ตาม เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วขอให้มี “เสถียรภาพ” เพื่อให้เอกชนและตลาดทุนสามารถเดินไปข้างหน้าได้
"ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้เงินจะไหลเข้าประเทศเอง แต่ถ้าเราไม่ทำ ประเทศเราจะมีเสน่ห์น้อยลงไปเยอะเลย" ดร.กอบศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย