กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB FM) ประเมินเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะยังผันผวนสูงและมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้จาก 2 ปัจจัยหลัก 1) นโยบายการเงินโลกที่จะสวนทางกันมากขึ้น เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ผ่อนคลายนโยบายการเงิน และ 2) ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยยังมีอยู่ ทั้งเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและการดำเนินนโยบายภาครัฐในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แนะให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่า โดยลูกค้านำเข้าอาจพิจารณาซื้อ Call Spread
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐหลังนักลงทุนปรับมุมมองว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงกว่าที่ตลาดคาดทำให้เงินหยวนซึ่งมีความสัมพันธ์กับเงินบาทสูงอ่อนค่าลง และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดการเงินไทย ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรรัฐบาล เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าลงราว 1.30% ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคพบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทยังน้อยกว่า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นราว 1.20%
ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนสูงทำให้มีลูกค้าเข้ามาทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX hedging) กับทางธนาคารเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา โดยธนาคารประเมินว่าปริมาณการทำธุรกรรม FX forward ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนราว 10% ซึ่งธุรกรรมส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มธุรกิจทองคำที่มีการซื้อขายมากขึ้นในช่วงที่ราคาทองคำผันผวนสูง และการส่งเงินกลับต่างประเทศ (Dividend payout) ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มักจะมีมากในไตรมาสที่ 2 ของปี
นายแพททริก กล่าวต่อว่า สำหรับในระยะต่อไป นโยบายการเงินโลกจะมีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยถึงแม้ Fed อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน แต่มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือนกรกฎาคมเนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มลดลงช้า ส่วนในยุโรป ECB น่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีก 2 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี PBOC ล่าสุดได้ลดดอกเบี้ย 7-days reverse repo จาก 2.0% มาอยู่ที่ 1.90% ทำให้นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสวนทางกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายสู่ EMs อาจลดลง และกดดันให้เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อได้ ประกอบกับความไม่แน่นอนของการเมืองไทยยังมีอยู่ ทั้งเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและการดำเนินนโยบายภาครัฐในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทิศทางค่าเงินบาท โดย SCB FM ประเมินว่า เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.35-35.35 ในช่วง 1 ถึง 3 เดือนข้างหน้านี้
ด้วยเหตุนี้ จึงแนะให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่า โดยลูกค้านำเข้าอาจพิจารณาซื้อ Call Spread ระยะเวลา 3 เดือน โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 34.60 และป้องกันความเสี่ยงถึงระดับราคาที่ 35.30 ส่วนลูกค้าส่งออกที่สามารถรอได้
SCB FM แนะนำรอจังหวะขายเงินดอลลาร์สหรัฐ Spot ภายในระยะราว 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งน่าจะได้ช่วงราคา 35.20-35.40 เพื่อเข้าทำธุรกรรม FX Forward ต่อไป