xs
xsm
sm
md
lg

คนรู้สึกเศรษฐกิจฟื้น ดันดัชนีเชื่อมั่น มิ.ย.นิวไฮ 40 เดือน คาดจีดีพีปีนี้โต 3.5% หากไร้รุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 66 ดีขึ้นต่อเนื่อง 13 เดือน สูงสุดรอบ 40 เดือน หลังคนรู้สึกเศรษฐกิจดีขึ้นจากท่องเที่ยวฟื้น กิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคดีขึ้น ราคาน้ำมันลดลง ทำผ่อนคลายค่าครองชีพ แต่ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนการจัดตั้งรัฐบาล ค่าครองชีพสูงจากค่าไฟ กังวลสถาบันการเงินโลก สงคราม ขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย และส่งออกลด มั่นใจตั้งรัฐบาลได้ตามกรอบ ส.ค.-ก.ย. หากไม่มีเหตุรุนแรงเศรษฐกิจปีนี้โตได้ 3.5% แต่ถ้ารุนแรงท่องเที่ยวหายเดือนละ 1 ล้านคน สูญรายได้ 5 แสนล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน มิ.ย. 2566 อยู่ที่ 56.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 2566 ที่ระดับ 55.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 40.5 เป็น 41.6 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 63.1 มาอยู่ที่ระดับ 63.9

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 51.2 53.7 และ 65.1 ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน พ.ค. 2566 ที่อยู่ในระดับ 50.2 52.8 และ 64.2 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้” นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ มองว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้เร็วไปที่จะวิเคราะห์ว่าจะออกทิศทางใด แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไม่น่าได้รับผลกระทบ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566 ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เสียโอกาสมาก และยังคาดว่าจะโตได้ 3.5% หรืออยู่ในกรอบ 3-3.5% และหากไม่มีการประท้วงรุนแรง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่หากมีการชุมนุมประท้วงรุนแรง การท่องเที่ยวจะเสียหาย คาดว่าจะหายไปเดือนละ 1 ล้านคนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้รายได้ท่องเที่ยวหายไป 5 แสนล้านบาท มีโอกาสฉุดจีดีพีลดลง 1%


กำลังโหลดความคิดเห็น