xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ตั้งรัฐบาลช้ากระทบเชื่อมั่น หว่งความรุนแรงกระทบท่องเที่ยว-ลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ธปท. ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ 3-4% ครึ่งแรกโต 2.9% ครึ่งหลังโตประมาณ 4.2% ระบุตั้งรัฐบาลช้ากระทบเชื่อมั่นจากนักลงทุน ขณะนี้สถาบันจัดอันดับระดับโลกจับตาไทย หากมีความรุนแรงกระทบนักท่องเที่ยวหาย แนะการทำนโยบายรัฐบาลใหม่ควรเน้นเสถียรภาพ เพิ่มศักยภาพการลงทุนจากต่างประเทศ หว่งหนี้ครัวเรือนยังสูง 90.6% จ่อออกมาตราการช่วยเหลือลูหนี้เรื้อรังคืนชีพ ปรับโครงสร้างดอกเบี้ยไม่เกิน 15% เริ่ม 1 เมษายน 2567

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยมีการฟิ้นตัวต่อเนื่อง ประเมินครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัว 2.3% แต่ครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ 4.2% โดยปัจจัยหลักคือ รายได้ที่ดีขึ้นของภาคบริการ ซึ่งส่งผลดีต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน และประชาชน รวมทั้งตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกคนรู้กันคือ การท่องเที่ยว ซึ่ง ธปท.คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศประมาณ 29 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่ในส่วนการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ประเทศไทยถูกผูกกับเศรษฐกิจจีนมาก ทำให้เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้กระทบต่อการส่งออกของไทยไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น คนเริ่มมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ถึงกับถดถอย หรือถดถอยก็อ่อนมากๆ โดยธปท.ประเมินว่า ส่งออกในครึ่งปีแรกจะติดลบ แต่การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาเป็นบวก และภาพรวมการขยายตัวน่าจะทรงตัวหรือเป็นศูนย์

ส่วนปัจจัยเงินเฟ้อ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาชะลอตัวมากกว่าที่ ธปท.คาด แต่เชื่อว่าการชะลอตัวของเงินเฟ้อเป็นปัจจัยระยะสั้น และในช่วงต่อไปเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้อีกครั้งจาก 3 ปัจจัย คือ 1.การท่องเที่ยวที่กลับมาจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและการใช้จ่ายจากภาคบริการให้เพิ่มขึ้น 2.เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงในช่วงก่อนหน้ามาที่ราคาขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น และกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในต่างประเทศ และก่อให้เกิดเงินเฟ้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และ 3.คือ ทิศทางนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ รวมทั้งการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ หลังความล่าช้าของงบประมาณ

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว เงินเฟ้อยังไม่สามารถวางใจได้ยังกลับมาเพิ่มขึ้นอีกได้ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ยังอยู่ในทิศทางเดิม คือ การปรับดอกเบี้ยสู่ระดับปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเพิ่งเริ่มเป็นศูนย์ จากที่ผ่านมาติดลบ ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินต้องมีจุดสมดุล รวมถึงดอกเบี้ยนโยบายที่จะพิจารณาภายใต้การติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และมองไปข้างหน้าอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการดูแลเงินเฟ้อ การดูแลให้นโยบายการเงินช่วยส่งเสริมหรือไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยการเมืองในขณะนี้ที่มีความไม่แน่นอน มีความล่าช้าของการตั้งรัฐบาลบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้การประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ของ ธปท.ที่ 3-4% เปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องของงบประมาณอาจจะล่าช้าบ้าง 2-3 เดือน และได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณ ธปท.คาดว่าไม่ได้ทำให้การประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ แต่จะไปกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจในปีหน้า ขณะที่สิ่งที่กังวลมากกว่าคือ ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ทั้งจากนักลงทุนไทย และต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลกที่จับตาเศรษฐกิจไทยอยู่ให้ความเสี่ยงของการเมืองไทยเป็นเรื่องสำคัญต่อความเชื่อมั่น หากการเมืองมีทางออก โดยไม่มีความรุนแรง จนกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวหายไป หรือลดลงมาก เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะไปต่อไป

ส่วนในระยะต่อไป ธปท.จะติดตามนโยบายของรัฐบาลใหม่จะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งมองว่าควรเป็นนโยบายที่ไม่ขัดต่อหลักเสถียรภาพ ทั้งด้านการเงิน และการคลัง นอกจากนี้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมองไทยคือ นโยบายของรัฐบาลใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร สร้างความเสี่ยงทางเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจมีได้หลายช่องทาง หากให้คนกู้เงินเพิ่มก็เสี่ยงกับหนี้ครัวเรือนเพิ่ม รัฐบาลกู้มาทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงิน รัฐมีเงินเหลือไม่มาก และไม่ดีต่อการสร้างเงินเฟ้อ ส่วนที่ดีที่สุด คือ การกู้เงินโดยภาคเอกชนมาลงทุนเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุน

**จ่อออกมาตรการคืนชีพลูกหนี้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15%

ธปท.ติดตามสถารกรณ์หนึครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้ปรับนิยามของหนี้ครัวเรือนใหม่ ส่งผลให้ตัวเลขพุ่งขึ้นแตะ 90.6% ต่อจีดีพี ซึ่งแยกหนี้เป็น 4 ประเภท คือ 1.หนี้เดิมเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 70% จะมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ 20% และธนาคารพาณิชย์ 10% 2.หนี้เรื้อรัง 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และ 4.หนี้นอกระบบ กลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวเป็นกลุ่มเปราะบางที่ ธปท.ให้ความกังวลที่ต้องดูแลช่วยเหลือ จึงเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมภายใต้การแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ให้กู้และผู้กู้ ซึ่งจะทำผ่านมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่จะมีผลภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 รวมถึงมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ที่จะดูแลปรับโคร้างสร้างหนี้ดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ภายใน 1 เมษายน 2567 โดยวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมนี้จะมีการแถลงมาตราการ

มาตรการแก้ไขหนี้ ธปท.จะดูแลหนี้ครบวงจร ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้เริ่มมีปัญหา และการถูกตัดหนี้ออก ซึ่งก่อนเป็นหนี้ จะเป็นเรื่องของการโฆษณาต่างๆ ให้ผู้ให้กู้ชี้แจงรายละเอียดว่าอัตราดอกเบี้ยเท่าไร และผ่อนกี่งวด เพื่อให้ผู้กู้รับรู้และไม่ให้คนเป็นกับดักหนี้ และระหว่างเป็นหนี้จะเห็นว่ามีคนผ่อนชำระได้ดี แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ หรือเรียกว่า “หนี้เรื้อรัง” กลุ่มนี้จะมีมาตรการเข้ามาดูแลช่วยเหลือ โดยลูกหนี้ที่เข้าข่าย คือ ลูกหนี้ชำระหนี้ดอกเบี้ยสะสมมากกว่าเงินต้นมาแล้ว 5 ปี และมีรายได้น้อยสอดคล้องกับฐานลูกค้าของสถาบันการเงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น