กรมทางหลวงชนบทจัดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนร่วม ผุด Missing Link เชื่อมโครงข่ายถนน 4 สาย สมุทรปราการ-ฉะเชิงทรา แก้ปัญหารถติดรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
วันที่ 3 ก.ค. 2566 กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ, จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมคูณ จังหวัดสมุทรปราการ
โดยเป็นการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการดำเนินงาน และแนวคิดการพัฒนาโครงการ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2566 สิ้นสุดวันที่ 22 มกราคม 2567 มีระยะเวลาศึกษารวมทั้งหมด 270 วัน
เนื่องจากปัจจุบันโครงข่ายทางหลวงของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิและทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา-ตราด) เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มีการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางเป็นอาคารพาณิชย์ หมู่บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร รวมถึงมีสถานที่สำคัญหลายแห่งทั้งพื้นที่ธุรกิจ สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ นิคมอุตสาหกรรม และสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดความ
ไม่สะดวกและความล่าช้าในการเดินทางส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
ที่ผ่านมากรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรของบริเวณพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1. โครงการถนนเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) กับทางหลวงหมายเลข 34 (ถนนบางนา-ตราด) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
2. โครงการถนนสายประชาราษฎร์อุทิศ-ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดสมุทรปราการ
3. โครงการถนน ทล.1-ทล.3 จังหวัดสระบุรี, ปทุมธานี, ฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
4. โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศช่วงจังหวัดสมุทรสาคร-จังหวัดสมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ)
ซึ่งทั้ง 4 โครงการหากพัฒนาเป็นโครงข่ายการเดินทางที่เชื่อมต่อเนื่องสมบูรณ์จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ กรมทางหลวงชนบทจึงเห็นควรพัฒนาโครงข่ายการเดินทางทางหลวงชนบทให้สมบูรณ์ด้วยการสร้างทางเชื่อม (Missing Link) ระหว่างโครงข่ายเดิมที่ศึกษาทั้ง 4 โครงการ โดยได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และ
บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าว โดยมีขอบเขตงาน เพื่อดำเนินการศึกษาด้านการจราจรและวิศวกรรมงานทาง งานศึกษาผลกระทบด้านสังคมและการใช้ประโยชน์ที่ดิน งานออกแบบเชิงหลักการ ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์และการลงทุน และงานรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน
สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการเบื้องต้น ประกอบด้วยพื้นที่ศึกษา 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 เป็นการเชื่อมต่อโครงการออกแบบรายละเอียด ถนนเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา-ตราด) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ถึงโครงการสำรวจออกแบบรายละเอียดถนนสายประชาราษฎร์อุทิศ-ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งโครงการช่วงที่ 1 อยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
ช่วงที่ 2 เป็นการเชื่อมต่อโครงการสำรวจออกแบบรายละเอียดถนนสายประชาราษฎร์อุทิศ-ถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดสมุทรปราการไปยังทางหลวงหมายเลข 314 จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยผ่านโครงการถนน ทล.1-ทล.3 จังหวัดสระบุรี, ปทุมธานี, ฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ 18 ตำบล ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรปราการ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางพลี ตำบลบางพลีใหญ่ ตำบลราชาเทวะ ตำบลหนองปรือ ตำบลบางพลี และตำบลบางโฉลง อำเภอบางบ่อ ตำบลบางบ่อ ตำบลบ้านระกาศ ตำบลบางพลีน้อย ตำบลคลองนิยมยาตรา และตำบลคลองสวน และจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปะกง ตำบลพิมพา ตำบลหนองจอก ตำบลบางสมัคร และตำบลบางวัว อำเภอบ้านโพธิ์ ตำบลลาดขวาง ตำบลแสนภูดาษ ตำบลเทพราช และตำบลคลองประเวศ
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวงชนบทจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการเพื่อให้โครงการพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ จะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง
ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1. เว็บไซต์ www.ทช-แก้ไขรอบสุวรรณภูมิ.com 2.Line Official : @363zttff (ทชแก้ไขรอบสุวรรณภูมิ)