(17 มิ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานเขตบางกอกน้อย โดยได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการงานตามนโยบายและรับฟังปัญหาในการปฏิบัติงานจากคณะผู้บริหารเขต ในการนี้ นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้มาสัญจรเขตบางกอกน้อย เป็นเขตที่มีโรงพยาบาลศิริราชเป็นศูนย์กลางด้านสาธารณสุข มีพื้นที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร มีประชาชนอยู่ประมาณ 100,000 คน รวมทั้งเป็นเขตที่มีทั้งวัดและโรงเรียนจำนวนมาก การมาสัญจรในครั้งนี้เป็นการติดตามผลงาน โดยเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ Traffy Fondue ซึ่งเขตบางกอกน้อยทำได้ดี มีเรื่องเหลือค้างน้อยมาก และได้ ranking 5 ดาว มากกว่าครึ่ง ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่แสดงพลังของ Traffy Fondue
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครได้อย่างมาก จากตัวเลขเรื่องที่ประชาชนแจ้งเหตุในหนึ่งปี พบว่าเป็นการแจ้งเหตุนอกเวลาราชการ 61% เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้แจ้งเหตุในเวลาราชการ และเรารับเรื่องนอกเวลาราชการมากถึง 53% ระยะเวลารอรับเรื่องเฉลี่ยเร็วขึ้น 20 เท่า จากเดือนแรก ๆ ประมาณ 788 ชั่วโมงต่อเรื่อง เป็น 38 ชั่วโมงต่อเรื่อง และการแก้ปัญหาเร็วขึ้น 11 เท่า จาก 1,375 ชั่วโมงต่อเรื่อง เป็นประมาณ 114 ชั่วโมงต่อเรื่อง ความพึงพอใจประชาชนเพิ่มจากเฉลี่ย 3.72 เป็น 4.07 ได้ 5 ดาวเพิ่มขึ้น 1 ดาวลดลง นี่คือพลังของ Traffy Fondue ทั้งนี้ เขตบางกอกน้อยเป็นเขตหนึ่งที่เห็นเลยว่า Traffy Fondue เป็นตัวที่ช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
เรื่องที่สอง เขตบางกอกน้อย ยังมีโครงการซึ่งสะท้อนนโยบายภาพใหญ่ คือการสร้างศูนย์บริการสาธารณสุข 30 แห่งใหม่ มีการเปลี่ยนจาก 2 ชั้น เป็น 7 ชั้น ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ โดยปีนี้ กทม.มีการสร้างศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่ม 2 แห่ง แต่ปีหน้า ในปีงบประมาณ 67 มีโครงการที่จะบรรจุประเด็นการสร้างศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่ม 13 แห่ง ซึ่งจะผ่านจะเข้าสภากทม.ในอีก 2 เดือน นี่คือสิ่งที่เราจะทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาเส้นเลือดฝอยของระบบสาธารณสุข
● ปักธงแก้ปัญหาจราจรติดขัด เฝ้าระวังจุดฟันหลอ จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย
อีกเรื่องที่ได้คุยกับตำรวจจราจร เขตบางกอกน้อยมีตำรวจจราจรหลาย สน. อาทิ สน.บางยี่ขัน สน.บางขุนนนท์ สน.บางกอกน้อย ทราบว่าการจราจรค่อนข้างติดขัดเนื่องจากมีแยกหลายแยก มีทั้งโรงพยาบาลศิริราช และบริเวณแยกสะพานถนนบรมราชชนนีที่รถติดมากก่อนขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้า ซึ่งตำรวจจราจรบอกว่า ปัญหาหนึ่ง คือ กทม.ควบคุมไฟจราจร และอีกปัญหา คือ ปัจจุบันไฟจราจรยังไม่ได้มีการประสานงานกัน เรื่องการใช้ระยะเวลา เช่น เปิด 2 นาที เปิด 3 นาที ตามระยะเวลา ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการจริง ๆ ในแต่ละแยก เรื่องนี้ก็เป็นนโยบายที่จะปรับปรุงในปีที่ 2 จะมีการเน้นเรื่องการจราจรอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ เรามีโครงการกับโรงพยาบาลศิริราชในการทำสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย ก็เป็นแผนที่จะเร่งดำเนินการอยู่
สำหรับเรื่องน้ำท่วม ได้ดำเนินการแก้ไขจุดฟันหลอในพื้นที่เขตบางกอกน้อยเกือบหมดแล้ว เหลือ 1 จุด ที่บริเวณวังหลัง ยังมีปัญหาเนื่องจากเจ้าของที่ยังไม่ให้ทำการแก้ไข แต่ก็เป็นจุดที่เราเฝ้าระวัง
ส่วนเรื่องหาบเร่-แผงลอย จุดหลักของเขตบางกอกน้อยคือตลาดพรานนก ซึ่งเป็นจุดผ่อนผัน ได้มีการเข้าไปปรับปรุงการจัดวางและปรับปรุงเรื่องทัศนียภาพ ก็เป็นระเบียบขึ้นมาก อีกจุดคือ วังหลัง ซึ่งมี 2 ฝั่ง ฝั่งที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลศิริราชสามารถเดินได้สะดวก แต่อีกฝั่งเป็นวิถีชุมชน คงต้องไปปรับให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
● ติดตามสถานการณ์ "เอลนีโญ" ใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบด้านเกษตรกรรม
ในส่วนของการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่ทำให้หลายจังหวัดในประเทศไทยอาจประสบปัญหาภัยแล้งซึ่งจะกระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภค บริโภค ตลอดจนน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม นั้น ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สถานการณ์เอลนีโญเป็นเรื่องที่เราต้องกังวล เนื่องจากเราต้องใช้น้ำในการดูแลต้นไม้ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากมีน้ำเค็มหนุนขึ้นมา อาจจะมีปัญหาเรื่องการนำน้ำเข้ามาดูแลพื้นที่สีเขียวต่าง ๆ แต่คงไม่ใช่เรื่องใหญ่เมื่อเทียบกับเกษตรกรในพื้นที่เขตหนองจอก เขตมีนบุรี อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้มีการทำฝายดักน้ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนแล้ว ยังกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่เกษตรกรรมอีกด้วย
นอกจากนี้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครโดยสำนักการระบายน้ำได้มีการประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานเพื่อติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการร่วมประชุมหารือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้มีการ เฝ้าระวังการรุกของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ รวมถึงมีการเตรียมแผนการควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าคลองเพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ทั้งนี้ อาจต้องหารือกับการประปานครหลวง ในกรณีที่น้ำน้อยจริง ๆ โดยหารือร่วมกันว่ามองอย่างไรและจะมีการเตรียมรับมืออย่างไร ซึ่งต้องมีการประสานกันมากขึ้นในอนาคต
● เล็งเก็บค่าบำบัดน้ำเสียผู้ประกอบการปลายปีนี้
สำหรับเรื่องการเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ขณะนี้กทม.ยังไม่ได้เก็บ ยังบำบัดฟรี ต้องบอกว่า กทม. มีการทำระบบบำบัดรวม ขณะนี้มี 8 แห่ง มีการสร้างระบบที่ดึงน้ำจากครัวเรือนจากแหล่งต่าง ๆ มาบำบัดที่ศูนย์กลาง เสร็จแล้วก็ปล่อยออกลงคลอง ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเราเสียค่าโอเปอเรเตอร์ปีหนึ่งประมาณ 600 ล้านบาท แต่เรายังไม่ได้เก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งความจริงแล้วอาคารบางประเภทสามารถจัดเก็บได้เลย อาทิ อาคารประเภท 2 หรือประเภทอาคารพาณิชย์ สถานประกอบการ และอาคารประเภท 3 หรือโรงแรม และอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
โดยกำหนดเก็บ 2 อัตรา อาคารประเภท 2 เก็บ 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร อาคารประเภท 3 เก็บ 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณที่เก็บค่าบำบัดจะเก็บ 80% ของปริมาณน้ำประปาที่ใช้ ส่วนครัวเรือนประชาชนทั่วไปยังไม่เก็บ เก็บเฉพาะผู้ประกอบการ ซึ่งก็มีข้อดี เนื่องจากถ้าเขาใช้ระบบบำบัดน้ำเสียรวม เขาไม่ต้องเดินเครื่องของตัวเอง 100% บำบัดแค่มาตรฐานที่ปล่อยสู่ส่วนกลางได้ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลในบ่อบำบัดของตัวเองได้ ก็จะทำให้คุณภาพน้ำส่วนรวมดีขึ้น เขาเองก็ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องของตัวเองด้วย คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ประมาณปลายปี 66
● ส่งมอบกำลังใจแก่ผู้แทนบุคลากร จากนั้นลงพื้นที่พบปะประชาชน
ภายหลังการประชุมติดตามงาน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีการพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหา/อุปสรรคในการทำงานและปัญหาส่วนตัว รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ พร้อมให้กำลังใจในการทำงานผ่านการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับผู้แทนจากสำนักงานเขตบางกอกน้อย จำนวน 5 คน ได้แก่ นายมนตรี ดิษฐวิบูลย์ ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) นางสุวารี รอดใจดี ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานสวนสาธารณะ นางสาวพุทธชาติ คูณทอง ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) นางสาวสุมณฑา เจียตั๊ก ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) และนายสุธี มิ่งมงคลมิตร ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) ซึ่งการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นนโยบายหนึ่งในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ที่ตอกย้ำการให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อรับทราบปัญหาในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยจุดที่ 1 ชุมชนวัดอัมพวา จุดที่ 2 ชุมชนวัดไชยทิศ จุดที่ 3 ย่านวังหลัง จุดที่ 4 โรงพยาบาลศิริราช