การเสวนาดังกล่าว ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ย้ำว่า “เรื่องอวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับประชาชนทุกคน และมีความสำคัญที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้”
ปัจจุบัน GISTDA พัฒนานวัตกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศสู่การใช้งานจริงได้ทั้งกับระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น การพัฒนา application เช็กฝุ่น ที่สามารถติดตามค่าฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมได้ 24 ชั่วโมง หรือการบริการข้อมูลจุดความร้อน เพื่อการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของประเทศ ผ่าน web service ก็มาจากดาวเทียม หรือแม้แต่กระทั่งดาวเทียมสามารถตรวจวัดการดูดซับคาร์บอนของพืชแต่ละต้นได้ ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดปัจจุบันได้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว และมีการเปิดให้บริการอัปเดตรายเดือนในเรื่องของคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ซึ่งสำคัญมากๆ ในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยและโลก เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศไทย เพื่อการวางแผน การติดตาม และการฟื้นฟูในระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สำหรับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวในงานเสวนาอีกว่า เราต้องรู้ว่าจริงๆ แล้วประเทศต้องการทำเพื่ออะไร มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร ทำแล้วสามารถรองรับงานหรือภารกิจด้านไหน เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีต้นทุนทั้งสิ้น ปัจจุบันมีการส่งเสริมผู้ประกอบการในประเทศได้แล้ว สามารถใช้วัสดุในประเทศได้ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีอวกาศสามารถสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ อีกมาก
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ด้วย ซึ่งขณะนี้ร่วมมือกับ KARI ประเทศเกาหลี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างท่าอวกาศยานในประเทศไทย เพราะความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์และสถานที่จัดตั้ง การศึกษาความเป็นไปได้นี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายใน 2 ปีนับจากนี้ และหากเป็นไปได้จะดำเนินการก่อสร้างอีก 4-5 ปี
“ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ เราก็ไม่มีโอกาสเริ่ม ถ้าเราเริ่มวันนี้อย่างน้อยเรารู้ว่าประเทศไทยเหมาะสมและมีโอกาสมากน้อยเพียงใดในการสร้างท่าอวกาศยาน”
การศึกษาเรื่อง spaceport ครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่จะเข้ามาจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ต่อยอดขยายกิจการอวกาศของประเทศและภูมิภาคให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ที่จะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นได้