จิสด้า เผยภาพบริเวณพื้นที่ที่กำลังเกิดการเผาไหม้ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการเผาไหม้บริเวณเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี 7 พันไร่ ส่วนจุดความร้อนไทย 23 ก.พ. 66 พุ่งสูงสุดถึง 2,269 จุด ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์พบมากกว่า 1 พันจุด
วันนี้ (24 ก.พ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยภาพบริเวณพื้นที่ที่กำลังเกิดการเผาไหม้ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการเผาไหม้ บริเวณเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี จากดาวเทียม Sentinel-2 (เซนตินอล 2) ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจุดความร้อนที่ได้จากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ในวันเดียวกัน
ทั้งนี้ จากการประมาณการพื้นที่ความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 7 พันกว่าไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่ต่อไป
พร้อมกันนี้ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ไทยพบจุดความร้อนวานนี้ (23 ก.พ. 2566) จำนวน 2,269 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมายังครองอันดับหนึ่งอยู่ที่ 3,142 จุด รองลงมาคือกัมพูชา 2,514 จุด, สปป.ลาว 1,582 จุด, เวียดนาม 371 จุด และมาเลเซีย 19 จุด
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,016 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 633 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 239 จุด, พื้นที่เกษตร 217 จุด, พื้นที่เขต ส.ป.ก. 144 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 20 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 5 อันดับคือ กาญจนบุรี 357 จุด, ตาก 182 จุด, อุตรดิตถ์ 136 จุด, ชัยภูมิ 135 จุด, กำแพงเพชร 114 จุด ตามลำดับ
ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 10.00 น. พบว่าในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ อำนาญเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม อยู่ระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ รวมถึงพื้นที่ของกรุงเทพมหานครด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจจะตามมา
สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่
ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน